Thursday, October 24, 2013

มาวางแผนเกษียณกันเถอะ ตอนที่ 5

เมื่อได้อ่านบทความวางแผนเกษียณตอนที่ผ่านๆ มา หลายๆ คนก็ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณ เริ่มที่จะอยากวางแผนเกษียณ แต่มักจะติดอยู่ที่ว่าไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง เริ่มเมื่อไร แล้วจะทำอย่างไรต่อ สิ่งที่ทำมันถูกต้องไหม สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการวางแผนเกษียณสักที

สิ่งที่นักวางแผนทางการเงินต้องการก็คืออยากให้ทุกคนมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมีอิสรภาพทางการเงิน สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองเมื่อถึงวัยเกษียณ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น การเดินทางก็มีอุปสรรคที่คอยขัดขวางอยู่

1. เริ่มต้นวางแผนช้าเกินไป

อย่างที่รู้กันว่าเมื่ออายุถึงช่วงเริ่มต้นทำงาน ช่วง 20 - 30 ปี คนไม่ค่อยคิดถึงการเก็บเงิน เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่จะถูกไปเป็นเพื่อค่าใช้จ่ายประจำวัน ช่วงนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวและสะสมสินทรัพย์ จึงทำให้มักมีแรงจูงใจที่จะบรรลุเป้าหมายและความต้องการทางการเงินในระยะสั้นมากกว่าเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดเพราะ เมื่ออายุยังน้อยก็มีโอกาสลงทุนได้นานกว่าคนที่มีอายุมาก เพราะใช้เวลานานกว่ากว่าจะถึงวัยเกษียณ ทำให้มีขีดความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงชีวิตอื่น ดังนั้นเพื่อโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาว เราก็ควรเริมต้นออมตั้งแต่อายุน้อยๆ ถึงแม้ว่าจะออมได้เป็นจำนวนไม่เยอะ แต่การออมอย่างสม่ำเสมออย่างมีวินัย ก็จะทำให้มีเงินเยอะได้ในตอนเกษียณ

2. ออมน้อยเกินไป

การออมน้อยเกินไปก็จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้มีเงินไม่พอใช้ในตอนเกษียณ หลายๆ คนพอใจที่จะใช้เงินเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบันมากกว่าเก็บเงินเพื่ออนาคต และแม้จะได้ออมเงินไว้บางส่วนก็จะเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไป อย่างไรก็ตามความเข้าใจและการตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อวัยเกษียณ รวมกับการมีแผนการเงินและการจัดทำงบประมาณการใช้เงินที่ชัดเจน จะช่วยในการจัดสรรเงินเพื่อการออมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น




ดังนั้นเมื่อทราบว่ามีอุปสรรคเช่นนี้แล้ว เราก็ไม่ควรที่รอหรือผลัดวันประกันพรุ่งที่จะวางแผนเกษียณ การเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้จะช่วยให้แผนเกษียณเป็นรูปเป็นร่างเร็วขึ้น ถ้ามีคำถามหรืออยากปรึกษาการวางแผนเกษียณก็สอบถามมาได้นะคะ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอคะ

Saturday, October 19, 2013

มาวางแผนเกษียณกันเถอะ ตอนที่ 4

เมื่อเราทราบถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดหลังเกษียณแล้ว คราวนี้มาดูว่าเราจะเตรียมเงินอย่างไรให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น

สำหรับเป้าหมายเพื่อการเกษียณ เมื่อตั้งค่าใช้จ่ายที่จะเกิดหลังเกษียณแล้ว เราต้องนำมาคิดกลับเป็นจำนวนเงินที่จะมีเมื่อถึงเวลาเกษียณ กล่าวคือเมื่อถึงอายุเกษียณเราก็ต้องมีเงินพร้อมที่จะสามารถนำมาใช้ได้ทันที เช่น ต้องการเกษียณตอนอายุ 60 และต้องการเงินใช้จ่ายตลอดการเกษียณทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อถึงอายุ 60 เราก็ควรมีเงินที่พร้อมไว้ใช้จ่ายทันที และต้องเพียงพอต่อการใช้จ่ายในการเกษียณที่จะเกิดขึ้น



การเตรียมเงินเพื่อการเกษียณ อาจเก็บเงินได้หลายรูปแบบ โดยแต่ละคนนั้นก็มีอาชีพหน้าที่การงานที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นตัวช่วยในการเก็บเงินก็จะไม่เหมือนกัน เช่น พนักงานเอกชนก็อาจเก็บในรูปแบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้าราชการก็อาจเก็บในรูปแบบของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ครูอาจารย์ทหารตำรวจอาจเก็บในรูปแบบของสหกรณ์เพื่อการออมทรัพย์ วิชาชีพอิสระเจ้าของธุรกิจก็อาจเก็บในรูปแบบของประกันสะสมทรัพย์หรือประกันบำนาญ ซึ่งแต่ละอย่างก็แตกต่างกันไป สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือเงินเก็บเพื่อการเกษียณนี้ไม่ควรลงในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เสี่ยงสูงจนเกินไปหรือลงในผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ควรมีการกระจายการเก็บเงิน เพราะเงินนี้ถือว่าเป็นเงินที่จำเป็น (serious money) ควรแบ่งส่วนที่กระจายลงในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เสี่ยงค่อนข้างต่ำหรือไม่มีความเสี่ยงเลย เพื่อเราได้มีเงินส่วนที่การันตีแน่นอนในตอนเกษียณ

ในส่วนของการเก็บเงินเพื่อเป็นการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในยามเกษียณนั้น อาจเก็บได้หลายรูปแบบเช่นกัน เช่น ทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ทำประกันอุบัติเหตุเพื่อลดค่าใช้จ่ายในอุบัติเหตุ บางคนก็อาจจะแบ่งเงินใส่เป็นกองทุนสุขภาพที่กันไว้ต่างหากเพื่อไว้ใช้รักษาเมื่อยามเจ็บป่วย ซึ่งการเก็บเงินเพื่อเป็นการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หลายๆ คนมักจะคิดว่าตอนหนุ่มๆ สาวๆ มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เคยหาหมอหรือเจ็บป่วยล้มหมอนนอนเสื่อ เลยทำให้มองข้ามถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่เมื่อตอนที่มีอายุมากขึ้น เกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะอาจจะประสบปัญหากับค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล มีเงินไม่เพียงพอ

ในส่วนการส่งมอบทรัพย์สินให้ลูกหลานเป็นมรดกนั้น ก็สามารถทำได้โดยวางแผนมรดก เพื่อให้ทรัพย์สินถูกส่งต่อและถ่ายโอนไปยังบุคคลที่เราต้องการอย่างครบถ้วน โดยแบ่งเงินและกันเงินเป็นสัดส่วนที่จะต้องการให้ลูกหลาน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลูกหลานได้รับทรัพย์สินแล้ว ยังเป็นการบริหารเงินที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการของเราอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการวางแผนเกษียณนั้นไม่ยากและไม่ง่ายเลย ต้องมีการเตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้าเป็นเวลานานเพื่อเก็บเงินให้ได้ตามแผนที่ต้องการ ในตอนหน้าเราจะมาดูว่าอุปสรรคการวางแผนเกษียณมีอะไรบ้าง

Saturday, October 12, 2013

มาวางแผนเกษียณกันเถอะ ตอนที่ 3

หลังจากตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะวางแผนเกษียณแล้วว่าเรามีความต้องการอะไรบ้าง มีสวัสดิการอะไร ปัจจุบันมีเงินออมอะไรแล้วบ้าง อนาคตจะมีแหล่งเงินออมจากไหนออกมาบ้าง คราวนี้ก็มาเริ่มต้นการวางแผนเกษียณกันคะ วิธีนั้นอาจจะยากนิดหน่อย แต่ถ้าเราตั้งใจที่จะทำวางแผนและปฎิบัติตามที่เราวางไว้ ประกอบกับวางแผนแต่เนิ่นๆ อย่าให้อายุใกล้เลข 5 แล้วค่อยทำ ควรทำตั้งแต่วันนี้ตอนที่เรายังทำงานไหวอยู่

การเริ่มต้นการวางแผนเกษียณ เราเริ่มจากการหาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังการเกษียณก่อน ตรวจสอบดูว่าเราจะมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดในอนาคตเท่าใด เมื่อรู้ว่าต้องใช้จ่ายเท่าใดก็ปรับให้เป็นปัจจุบันว่าถ้าต้องการจะมีเงินจำนวนเท่านี้ จะต้องเก็บเงินแต่ละปีเป็นจำนวนเท่าใด และเก็บเงินอย่างไร ถึงจะตอบโจทย์นี้ได้ แล้วถ้าเป้าหมายมันห่างจากเงินที่เก็บเงินได้จะทำอย่างไร จะปรับเปลี่ยนอย่างไร

 
การตั้งค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังการเกษียณ

1. อยากใช้เงินหลังเกษียณเดือนละเท่าใด

ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า เมื่อเกษียณแล้วเราจะใช้เงินเดือนละเท่าไร ถ้ายังคิดไม่ออก ให้ลองดูที่ปัจจุบันว่าเรามีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเท่าไร แล้วค่าใช้จ่ายใดที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายใดที่หลังเกษียณแล้วยังคงมีอยู่ คิดคำนวณออกมาเป็นตัวเลขคร่าวๆ ก็ได้ เป็นการประมาณว่าหลังเกษียณแล้วเราจะใช้เงินจำนวนเท่านี้ บางคนอาจนำค่าใช้จ่ายในปีสุดท้ายก่อนเกษียณมาหักลบครึ่งหนึ่ง ที่เหลือจึงเป็นค่าใช้จ่ายประมาณการหลังเกษียณ

2. ตั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นไม่จำเป็นหลังเกษียณ

ค่าใช้จ่ายอีกประเภทนึงที่อาจจะเกิดขึ้นคือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเช่น ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวหลังเกษียณ (บางคนอาจเถียงว่าการท่องเที่ยวหลังเกษียณเป็นสิ่งจำเป็น ก็แล้วแต่คะ สามารถนำไปใส่เพิ่มในข้อแรกได้เลย) ค่าใช้จ่ายสันทนาการงานเลี้ยง พบปะเพื่อนฝูง ค่าใช้จ่ายมื้อพิเศษกับลูกหลาน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจะตัดทึ้งก็ได้หรือจะมีก็ได้ขึ้นกับเงินที่เตรียมไว้เพียงพอหรือไม่

3. ตั้งวงเงินค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาล

ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินนี้ จะรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเช่น ค่าซ่อมบ้านเนื่องจากน้ำท่วม ค่าซ่อมรถเปลี่ยนรถ ค่ารักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย เป็นต้น ค่าใช้จ่ายประเภทนี้ไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่นอนว่าจะเป็นจำนวนเท่าใด ในส่วนค่ารักษาพยาบาล บางคนรู้ตัวว่าเป็นโรคเยอะก็ควรมีการเก็บเงินไว้เพื่อรักษาตัวเอง หรือบางคนมีโรคประจำตัวต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ ก็ต้องตั้งวงเงินในการรักษาตัวเองไว้สูงเพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาในอนาคต

4. เก็บเงินไว้เป็นมรดก เหลือไว้ให้ลูกหลาน

การเหลือเงินเป็นมรดกให้กับลูกหลานถือเป็นสิ่งดีที่พ่อแม่อยากมอบให้กับลูกๆ แต่การจะให้มรดกแก่ลูกหลานนั้น ต้องมีการเตรียมเงินหรือทรัพย์สินเอาไว้ก่อน ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องมีการเก็บเงินไว้ส่วนนึงเพื่อเป็นเงินมรดกให้กับลูกหลานต่อไป

ในตอนหน้าเราจะมาดูว่าเมื่อมีค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้แล้ว จะเก็บเงินอย่างไรถึงจะถึงเป้าหมายนี้

Monday, October 7, 2013

มาวางแผนเกษียณกันเถอะ ตอนที่ 2

เคยได้คุยกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านรวมถึงญาติพี่น้องของตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยคิดถึงการวางแผนเกษียณเลย เค้าให้เหตุผลว่ามันไกลตัว อีกตั้งนานกว่าจะถึง ยังมีภาระด้านอื่นที่ต้องรับผิดชอบ ต้องซื้อบ้านซื้อรถแล้วจะเอาเงินที่ไหนเก็บ เงินที่จะใช้ในวันนี้ยังไม่พอเลยแล้วจะเก็บเงินเพื่ออนาคตได้อย่างไร เหตุผลเหล่านี้ทำให้คนเหล่านั้นคิดว่าการวางแผนเกษียณเป็นสิ่งที่ไกลตัวและไม่จำเป็น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเกษียณขึ้นมา ก็กลับมาตีโพยตีพายว่าน่าจะวางแผนก่อน รู้งี้เก็บเงินไว้เยอะๆ ดีกว่า ไม่น่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายในตอนหนุ่มๆ เลย สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเรามีการวางแผนเกษียณที่ดี มีการเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต

ผลการสำรวจ Fidelity Investment ที่สอบถามคนที่เพิ่งเกษียณไปไม่นาน พบว่า คนที่เกษียณแล้วถึงกว่าร้อยละ 57 คิดว่าเค้าน่าจะเตรียมตัวกับแผนเกษียณให้มากกว่านี้ หลายๆ คนเกษียณไปทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม ครั้นจะไปหางานทำเพิ่มก็ยากเสียแล้ว เพราะอายุเยอะแล้ว ไม่ค่อยมีใครเค้ารับ หรือจะมาทำธุรกิจส่วนตัวก็จะไม่ไหว เพราะเรี่ยวแรงไม่เหมือนก่อน สู้คนหนุ่มๆ สาวๆ ไม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ควรมีการวางแผนเกษียณเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เราได้มีเงินเพียงพอในวัยเกษียณ
 

สิ่งที่เราควรพิจารณาก่อนการวางแผนเกษียณ

1. รูปแบบการดำรงชีวิตของเราหลังเกษียณจะเป็นอย่างไร

เราอยากใช้ชีวิตอย่างไรหลังเกษียณ จะไปเที่ยวรอบโลก จะกินข้าวนอกบ้านทุกมื้อ หรือให้เงินลูกๆ หลานๆ เป็นของขวัญ หรืออยากใช้ชีวิตพอเพียง ทำสวนทำไร่ ปลูกผักกินเอง อยู่บ้านนอก ก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคนคะ เมื่อเราคิดแล้วว่ารูปแบบการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างไรแล้ว มันก็จะสะท้อนถึงความต้องการของจำนวนเงินที่จะต้องมีหลังเกษียณ

2. เราอยากเกษียณหรือเลิกทำงานเมื่ออายุเท่าใด

บางคนไม่อยากทำงานไปตลอดชีวิต ก็ต้องเลือกว่าอยากจะเกษียณที่อายุเท่าใด บางคนทำงานที่กำหนดอายุเกษียณเอาไว้แล้ว เราก็ต้องเกษียณที่อายุนั้นๆ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปแล้วอายุเกษียณจะอยู่ที่ 60 ปี แต่บางคนก็อยากที่จะเกษียณเร็วขึ้นเพราะเบื่องานเบื่อคนเบื่อสภาพแวดล้อม ก็อาจจะเลิกทำงานตั้งแต่อายุ 50 ปี หรือบางคนรักการทำงาน มีความสุขกับการทำงานก็อาจจะทำไปถึงอายุ 65 ถึงอายุ 70 ก็มี ดังนั้นเมื่อรู้อายุที่จะเกษียณแน่นอนแล้วก็จะทราบตัวเองว่าเราจะทำงานไปอีกกี่ปี

3. อายุเฉลี่ยหรืออายุขัยที่จะอยู่ถึง

ไม่มีใครรู้ว่าเราจะอยู่ถึงเมื่อใด แต่การคาดการณ์อายุเฉลี่ยหรือายุขัยก็เพื่อเตรียมเงินให้เพียงพอถึงอายุนั้นๆ การจะกำหนดอายุเฉลี่ยหรืออายุขัยนั้นอาจพิจารณาจากอายุของพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่ามีอายุยืนเท่าใด ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายมีอายุยืนแสดงว่าเราก็มีโอกาสที่จะมีอายุยืนตามนั้นไปด้วย แต่ถึงยังไงก็เป็นเพียงการคาดการณ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนนั้นๆ ด้วยว่าดูแลตัวเองดีแค่ไหน ถ้าใส่ใจกับตัวเองดีก็มีโอกาสที่จะอายุยืนคะ

4. มีสวัสดิการเงินออมในรูปแบบเงินเพื่อการเกษียณมากน้อยเพียงใด

บางคนที่ทำงานในบริษัทเอกชน บริษัทก็บังคับให้ทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม แต่บางคนที่ทำงานราชการรัฐวิสาหกิจ ก็มีบำเหน็จบำนาญให้ตอนเกษียณ แต่บางคนที่มีอาชีพอิสระธุรกิจส่วนตัวอาจไม่มีสวัสดิการในตรงนี้ การมีสวัสดิการเงินออมนี้จะช่วยให้เรามีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ดังนั้นถ้ามีสวัสดิการเงินออมเราก็จะทราบว่าเราจะมีเงินออกมาตอนเกษียณเท่าใด

5. มีสวัสดิการอื่นๆ ให้หลังเกษียณ

สวัสดิการอื่นๆ ที่ได้รับหลังเกษียณนี้อาจเป็นแบบพิเศษหรือส่วนตัวของแต่ละบุคคล เช่น บุตรทำงานราชการรัฐวิสาหกิจ พ่อแม่ก็ได้รับสิทธิเบิกค่ารักษา หรือ ทำงานให้กับกงสีของตระกูล เมื่อเจ็บป่วยก็สามารถเบิกเงินจากกงสีได้ หรือ มีมรดกที่จะได้รับเป็นเงินก้อนโต หรือ เป็นเจ้าของบริษัท ก็สามารถจัดสวัสดิการให้ตัวเองได้ เป็นต้น เมื่อมีสวัสดิการอื่นๆ ที่พิเศษเหล่านี้ก็จะทำให้การเตรียมตัวเพื่อการเกษียณง่ายขึ้น

ในตอนหน้า เราจะมาดูกันว่าหลังจากพิจารณาก่อนวางแผนเกษียณแล้ว เราจะมาเริ่มวางแผนเกษียณกันคะ

Friday, October 4, 2013

มาวางแผนเกษียณกันเถอะ ตอนที่ 1

วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา หลายๆ คนถือเป็นวันเกษียณ จากที่เคยต้องแต่งตัวไปทำงาน มีคนเอาเอกสารมาให้เซ็นต์ มีลูกน้องมาล้อมหน้าหลัง กลับเป็นไม่ต้องทำอะไร อยู่บ้าน โทรศัพท์ที่เคยดังทุกชั่วโมงก็เงียบ ลูกน้องและเลขาที่มาล้อมหน้าหลังก็หายไป ทำให้หลายๆ คนรู้สึกว่าไม่อยากจะเกษียณเลย เพราะตัวเองยังไม่พร้อม ยังอยากที่จะทำงานอยู่ แต่มันทำไม่ได้แล้ว เพราะมันถึงเวลาที่ต้องเกษียณแล้ว คราวนี้ทำให้หลายๆ คนก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร จะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ กินข้าวตามร้านอาหาร เดินเล่นซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า หรือ นัดเจอเพื่อนฝูงเก่าๆเพื่อพบปะสังสรรค์ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายๆ คนค่อนข้างเป็นกังวลเพราะต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ แล้วเงินที่มีอยู่มันไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และจะทำงานต่อก็ไม่ได้แล้ว


ปัญหาที่พบในสังคมไทยในตอนนี้ก็คือชีวิตหลังเกษียณไม่รู้ว่าจะมีเงินใช้พอหรือไม่ ถ้าอายุไม่ยืนก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะคงใช้เงินไม่มากในการดำรงชีวิตในบั้นปลาย แต่ถ้ามีอายุยืนขึ้นมา เงินที่มีอยู่อาจไม่พอใช้ไปถึงบั้นปลายชีวิต เพราะยิ่งมีอายุสูงขี้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่น ค่ารักษาพยาบาลที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของคนวัยนี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ เป็นต้น ทำให้เราต้องมีการเตรียมตัวเก็บเงินไว้ก่อนเกษียณ มิฉะนั้นแล้ว คงจะไม่ดีแน่ถ้าวันนึงเงินเกิดหมดแล้วยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอยู่


การเตรียมตัวเพื่อการเกษียณนั้น ควรเตรียมเงินไว้เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด เพราะไม่รู้ว่าจะมีอายุไปถึงเท่าใด ถ้าเงินที่เตรียมไว้เหลือก็ยังอาจเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้อีก แต่การจะเตรียมตัวเพื่อการเกษียณเพื่อให้เงินเหลือเยอะๆ นั้น ควรเตรียมตัวเสียแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยอยู่ เพราะการออมตั้งแต่อายุน้อยๆ จะช่วยทำให้เราเก็บเงินไม่หนักจนเกินไป ถ้าไปออมเงินตอนช่วงใกล้จะเกษียณแล้ว เผลอๆ อาจต้องเก็บเงินเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับในตอนนั้นเลย ซี่งจะทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการออม คำพูดที่ใช้ได้อยู่เสมอก็คือ "ออมก่อน ย่อมรวยกว่า" ค่ะ

ในตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนวางแผนเกษียณมีอะไรบ้าง