Monday, October 7, 2013

มาวางแผนเกษียณกันเถอะ ตอนที่ 2

เคยได้คุยกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านรวมถึงญาติพี่น้องของตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยคิดถึงการวางแผนเกษียณเลย เค้าให้เหตุผลว่ามันไกลตัว อีกตั้งนานกว่าจะถึง ยังมีภาระด้านอื่นที่ต้องรับผิดชอบ ต้องซื้อบ้านซื้อรถแล้วจะเอาเงินที่ไหนเก็บ เงินที่จะใช้ในวันนี้ยังไม่พอเลยแล้วจะเก็บเงินเพื่ออนาคตได้อย่างไร เหตุผลเหล่านี้ทำให้คนเหล่านั้นคิดว่าการวางแผนเกษียณเป็นสิ่งที่ไกลตัวและไม่จำเป็น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเกษียณขึ้นมา ก็กลับมาตีโพยตีพายว่าน่าจะวางแผนก่อน รู้งี้เก็บเงินไว้เยอะๆ ดีกว่า ไม่น่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายในตอนหนุ่มๆ เลย สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเรามีการวางแผนเกษียณที่ดี มีการเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต

ผลการสำรวจ Fidelity Investment ที่สอบถามคนที่เพิ่งเกษียณไปไม่นาน พบว่า คนที่เกษียณแล้วถึงกว่าร้อยละ 57 คิดว่าเค้าน่าจะเตรียมตัวกับแผนเกษียณให้มากกว่านี้ หลายๆ คนเกษียณไปทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม ครั้นจะไปหางานทำเพิ่มก็ยากเสียแล้ว เพราะอายุเยอะแล้ว ไม่ค่อยมีใครเค้ารับ หรือจะมาทำธุรกิจส่วนตัวก็จะไม่ไหว เพราะเรี่ยวแรงไม่เหมือนก่อน สู้คนหนุ่มๆ สาวๆ ไม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ควรมีการวางแผนเกษียณเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เราได้มีเงินเพียงพอในวัยเกษียณ
 

สิ่งที่เราควรพิจารณาก่อนการวางแผนเกษียณ

1. รูปแบบการดำรงชีวิตของเราหลังเกษียณจะเป็นอย่างไร

เราอยากใช้ชีวิตอย่างไรหลังเกษียณ จะไปเที่ยวรอบโลก จะกินข้าวนอกบ้านทุกมื้อ หรือให้เงินลูกๆ หลานๆ เป็นของขวัญ หรืออยากใช้ชีวิตพอเพียง ทำสวนทำไร่ ปลูกผักกินเอง อยู่บ้านนอก ก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคนคะ เมื่อเราคิดแล้วว่ารูปแบบการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างไรแล้ว มันก็จะสะท้อนถึงความต้องการของจำนวนเงินที่จะต้องมีหลังเกษียณ

2. เราอยากเกษียณหรือเลิกทำงานเมื่ออายุเท่าใด

บางคนไม่อยากทำงานไปตลอดชีวิต ก็ต้องเลือกว่าอยากจะเกษียณที่อายุเท่าใด บางคนทำงานที่กำหนดอายุเกษียณเอาไว้แล้ว เราก็ต้องเกษียณที่อายุนั้นๆ ซึ่งสำหรับคนทั่วไปแล้วอายุเกษียณจะอยู่ที่ 60 ปี แต่บางคนก็อยากที่จะเกษียณเร็วขึ้นเพราะเบื่องานเบื่อคนเบื่อสภาพแวดล้อม ก็อาจจะเลิกทำงานตั้งแต่อายุ 50 ปี หรือบางคนรักการทำงาน มีความสุขกับการทำงานก็อาจจะทำไปถึงอายุ 65 ถึงอายุ 70 ก็มี ดังนั้นเมื่อรู้อายุที่จะเกษียณแน่นอนแล้วก็จะทราบตัวเองว่าเราจะทำงานไปอีกกี่ปี

3. อายุเฉลี่ยหรืออายุขัยที่จะอยู่ถึง

ไม่มีใครรู้ว่าเราจะอยู่ถึงเมื่อใด แต่การคาดการณ์อายุเฉลี่ยหรือายุขัยก็เพื่อเตรียมเงินให้เพียงพอถึงอายุนั้นๆ การจะกำหนดอายุเฉลี่ยหรืออายุขัยนั้นอาจพิจารณาจากอายุของพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่ามีอายุยืนเท่าใด ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายมีอายุยืนแสดงว่าเราก็มีโอกาสที่จะมีอายุยืนตามนั้นไปด้วย แต่ถึงยังไงก็เป็นเพียงการคาดการณ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนนั้นๆ ด้วยว่าดูแลตัวเองดีแค่ไหน ถ้าใส่ใจกับตัวเองดีก็มีโอกาสที่จะอายุยืนคะ

4. มีสวัสดิการเงินออมในรูปแบบเงินเพื่อการเกษียณมากน้อยเพียงใด

บางคนที่ทำงานในบริษัทเอกชน บริษัทก็บังคับให้ทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม แต่บางคนที่ทำงานราชการรัฐวิสาหกิจ ก็มีบำเหน็จบำนาญให้ตอนเกษียณ แต่บางคนที่มีอาชีพอิสระธุรกิจส่วนตัวอาจไม่มีสวัสดิการในตรงนี้ การมีสวัสดิการเงินออมนี้จะช่วยให้เรามีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ดังนั้นถ้ามีสวัสดิการเงินออมเราก็จะทราบว่าเราจะมีเงินออกมาตอนเกษียณเท่าใด

5. มีสวัสดิการอื่นๆ ให้หลังเกษียณ

สวัสดิการอื่นๆ ที่ได้รับหลังเกษียณนี้อาจเป็นแบบพิเศษหรือส่วนตัวของแต่ละบุคคล เช่น บุตรทำงานราชการรัฐวิสาหกิจ พ่อแม่ก็ได้รับสิทธิเบิกค่ารักษา หรือ ทำงานให้กับกงสีของตระกูล เมื่อเจ็บป่วยก็สามารถเบิกเงินจากกงสีได้ หรือ มีมรดกที่จะได้รับเป็นเงินก้อนโต หรือ เป็นเจ้าของบริษัท ก็สามารถจัดสวัสดิการให้ตัวเองได้ เป็นต้น เมื่อมีสวัสดิการอื่นๆ ที่พิเศษเหล่านี้ก็จะทำให้การเตรียมตัวเพื่อการเกษียณง่ายขึ้น

ในตอนหน้า เราจะมาดูกันว่าหลังจากพิจารณาก่อนวางแผนเกษียณแล้ว เราจะมาเริ่มวางแผนเกษียณกันคะ

No comments:

Post a Comment