Friday, July 23, 2021

วัคซีนทางการเงิน

หลายๆ วันที่ผ่านมานี้เราจะเจอเรื่องราวกลโกงทางการเงินที่ปรากฏในข่าวต่างๆ กลโกงเหล่านี้อาจจะมาในรูปแบบของเงินดิจิตอล หรือ กลโกงแบบหลอกให้ลงทุนเพื่อได้ผลตอบแทนสูงๆ เป็นลักษณะเครือข่ายขายของต่างๆ กลโกงเหล่านี้จะมีวิธีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดังนั้น เราจึงควรที่มี “วัคซีนทางการเงิน” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากการกลโกงสารพัดรูปแบบนี้

หากเราได้ดูสารคดี Money, Explained ใน Netflix ที่ได้พูดถึงกลโกงทางการเงินไว้ในตอน “Get Rich Quick” โดยในตอนนี้จะกล่าวถึงการที่มิจฉาชีพหากินกับคนที่อยากรวยเร็วๆ จึงออกแบบกลโกงมาล่อคนที่ขาดความรู้ทางการเงิน ในสารคดีจะแบ่งกลโกงออกมาเป็น 5 รูปแบบเพื่อหลอกล่อเรา

1.    Advance fee ช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมมาก่อนแล้วจะส่งเงินให้ทีหลัง กลโกงวิธีมิจฉาชีพจะใช้วิธีหว่านโดยส่งจดหมาย อีเมล์หรืออาจจะเป็นข้อความ SMS มาหาเราว่า เราถูกรางวัลที่มีมูลค่าสูงมาก แต่การจะได้เงินมา ต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมไปก่อน จึงอยากจะให้เราโอนเงินค่าธรรมเนียมมา แล้วเมื่อไรที่ได้รางวัลมา ก็จะเอามาให้ คนที่หลงเชื่อก็จะโอนค่าธรรมเนียมไปให้ก่อน เพื่อหวังจะได้เงินจำนวนมหาศาล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมา

2.    Pump and Dump ปั่นราคาแล้วเท เป็นวิธีที่พบเห็นบ่อยกับหุ้นหรือเงินดิจิตอล ที่มิจฉาชีพจะกล่อมให้ผู้คนมาลงทุนในของบางอย่างที่ดูไม่มีราคาหรือของธรรมดาๆ แต่สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ เพื่อปั่นราคาให้สูงขึ้น ให้คนเข้าไปซื้อ แล้วจึงเทออกขายตอนที่ราคาสูงสุดหรือราคาที่มิจฉาชีพพอใจ แล้วราคาก็กลับมาอยู่ที่เดิม ทำให้คนที่ซื้อไปได้ราคาที่อยู่บนยอดดอย 

3.    Ponzi แชร์ลูกโซ่ กลโกงวิธีนี้มิจฉาชีพจะเริ่มต้นโดยการตีสนิท ทำความรู้จักกันก่อน อาจจะปลอมแปลงให้ตัวเองดูดีดูน่าเชื่อถือว่าร่ำรวยจากการลงทุน แล้วก็จะชักชวนเราว่าหากนำเงินมาลงทุนกับเขา เขาจะทำกำไรเป็นจำนวนมากถึง 20-30% เมื่อคนเริ่มเอาเงินมาลงทุน มิจฉาชีพก็จะให้แบ่งผลตอบแทน 20-30% ตามที่บอกไว้แก่คนที่ลงทุนคนแรกโดยนำเงินลงทุนของคนสองมาจ่าย และให้ผลตอบแทนแก่คนสองโดยเอาเงินลงทุนของคนที่สามมาจ่าย จะเป็นแบบนี้วนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีกำไรที่เกิดขึ้นจากการบริหารที่แท้จริง เงินที่เหลือ 70-80% ที่ลงทุนของทุกคนจะตกอยู่ที่มิจฉาชีพ ซึ่งถ้าทุกคนถอนเงินพร้อมกันหรือไม่มีคนใหม่เข้ามา ระบบก็จะล่ม  

4.    Pyramid สร้างฐานสมาชิกในลักษณะพีระมิด กลโกงวิธีนี้มิจฉาชีพจะเป็นเจ้ามือจ่ายเงินให้กับคนแรกที่เข้ามาเป็นสมาชิก แล้วถ้าคนแรกพาเพื่อนมาเป็นสมัครสมาชิก ก็จะเก็บเงินค่าสมาชิกกับเพื่อนๆ ยิ่งมีสมาชิกเยอะขึ้นคนแรกก็จะได้ส่วนแบ่งจากค่าสมาชิกมากขึ้น ดังนั้นเมื่อคนที่สองเป็นสมาชิกที่มาจากการแนะนำของคนแรก ก็จะเหมือนกับพีระมิดที่ดันฐานคนที่แรกให้สูงขึ้น คนที่สองก็จะหาสมาชิกเพิ่มไปเรื่อยๆ คนที่สามสี่ห้าหกที่เข้ามาก็จะเป็นฐานให้คนที่สอง เป็นการเพิ่มฐานให้กับพีระมิดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะพบได้บ่อยกับธุรกิจเครือข่ายที่เน้นให้คนมาเป็นสมาชิกแล้วขายของไปด้วย ถ้าของที่ขายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ขายไม่ออก และ ไม่มีคนใหม่เข้ามา พีระมิดก็จะพังลง มิจฉาชีพที่อยู่บนสุดของพีระมิดก็จะได้เงินจากค่าสมาชิกและของที่ขายออกไปแบบสบายๆ  

5.    Coaching Scheme จูงใจให้มาจ่ายเงินเรียนเพื่อแลกกับหลักสูตรรวยเร็ว กลโกงวิธีนี้จะคล้ายกับกลโกงแบบจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้าเพื่อจะได้เงินที่ต้องการ แต่เป็นการจ่ายเงินเพื่อแลกกับความรู้ที่ทางมิจฉาชีพรับรองว่าจะทำเงินให้กับเรา เราอาจจะเคยได้ยินคำโฆษณาที่ว่า วิธีรวยทางลัด ทำรายได้ 1 ล้านภายใน 3 เดือน เมื่อเราสนใจเข้าไป เราต้องซื้อคอร์สเพื่อจะได้ความรู้นั้นมา ซึ่งคอร์สส่วนใหญ่ก็มักจะไม่เป็นจริงหรือเป็นจริงก็จะยากมาก มิจฉาชีพก็จะขายคอร์สแพงต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อให้เราอยากได้เคล็บลับนั้นมา ซึ่งเราจะตกอยู่ในคำพูดที่สวยหรู หรือ หลงอยู่ในวิธีการขาย เช่น ถ้าทำตามนี้ง่ายๆ ก็จะได้เงินมาแน่นอน ปั้นตัวละครมาพูดโน้มน้าวให้เราเชื่อถือ แล้วจบด้วยว่าต้องรีบลงคอร์สนั้นตอนนี้ เราจะเปิดเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว 

กลโกงทั้ง 5 แบบนี้ จะมาในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ มีโรคระบาด คนต้องการความหวัง ต้องการอะไรที่แปลกใหม่กับชีวิตเพื่อให้หลุดพ้นจากที่เดิม ดังนั้น นอกจากที่เราควรจะมีวัคซีนป้องกันโรคแล้ว เรายังควรจะมีวัคซีนทางการเงินป้องกันการหลอกลวง ไม่ให้ตกไปเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ การจะมีวัคซีนทางการเงินนั้น ก็จะมาจากการได้รับความรู้ด้านทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) มีความรู้ทางด้านการเงินการลงทุน เข้าใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนการลงทุน อัตราเงินเฟ้อ การวางแผนการเงิน การวางแผนการเกษียณ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นภูมิต้านทานป้องกันการหลอกลวงทางการเงินให้กับตัวเราได้