Saturday, December 22, 2012

วางแผนการเงิน... เรื่องง่าย... ถ้าให้ "มืออาชีพดูแล" ตอน 7

คราวนี้ทุกคนก็เริ่มจะอยากวางแผนทางการเงินกันแล้วใช่ไหมค่ะ แต่บางคนก็ยังมีคำถามที่ค้างคาใจ หรือข้อสงสัยบางอย่างต่อนักวางแผนทางการเงินเหล่านี้ คำถามที่เจอบ่อยๆ และคำถามที่สงสัยก็หนีไม่พ้นว่า นักวางแผนทางการเงินจะเก็บความลับได้ไหม เราจะเชื่อนักวางแผนทางการเงินเหล่านี้ได้อย่างไร นักวางแผนทางการเงินเหล่านี้จะจริงใจให้คำปรึกษาที่เป็นกลางกับเราไหม หรือ นักวางแผนทางการเงินเหลานี้จะได้รับอะไรตอบแทนเมื่อมีการวางแผนทางการเงิน



- "นักวางแผนทางการเงินจะเก็บความลับได้ไหม"

สิ่งที่คนส่วนใหญ่เป็นห่วงกันและกังวลกันมาก ถ้าต้องไปใช้บริการนักวางแผนทางการเงิน คือกลัวว่าข้อมูลจะรั่วไหล เพราะต้องหยิบทุกอย่างขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะ บอกข้อมูลทุกอย่างอย่างหมดเปลือก ซึ่งโดยมากแล้วข้อมูลทางการเงินจะเป็น "ข้อมูลลับสุดยอด" ไม่อยากจะเปิดเผยให้คนอื่นรับรู้ และในบางครั้งคนในครอบครัวเดียวกันเองก็ยังไม่รู้เลยว่า คนที่นอนข้างๆ ด้วยกันทุกวัน มีสินทรัพย์อยู่เท่าไร

เพราะฉะนั้น ความไว้วางใจในตัวนักวางแผนทางการเงินจึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด

ในประเด็นนี้เอง น่าที่จะพอวางใจได้ เพราะหากเป็นนักวางแผนทางการเงินที่ได้รับคุณวุฒิจาก CFP (Certificated Financial Planner) คุณวุฒิจาก FcHFP (Follow Chartered Financial Practitioner) และ RFC (Registered Financial Consultant) ก็จะมีการกำหนด "จรรยาบรรณ" ที่ต้องปฏิบัติตามไว้อย่างชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก จรรยาบรรณของนักวางแผนทางการเงินกำหนดให้ "รักษาข้อมูลของลูกค้าไว้เป็นความลับ" และจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าให้กับคนอื่นรู้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า และไม่ได้เป็นเพียงแค่จรรยาบรรณที่กำหนดขึ้นมาลอยๆ ให้ดูน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่มีวิธีปฏิบัติอย่างละเอียดยิบเช่น

"แฟ้มเอกสารลูกค้าทั้งหมดต้องถูกเก็บใส่กุญแจไว้ในเวลากลางคืนและห้ามนำออกจากที่ทำการ เว้นแต่จะคืนให้กับลูกค้า"
"ในกรณีที่จัดเก็บเอกสารเป็นอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ ต้องกำหนดวิธีจำกัดเข้าถึงข้อมูล เช่น มีการใส่รหัสลับ (Password) เพื่อรักษาความลับของข้อมูลที่เก็บไว้ และการจัดทำ Backup File"
"ละเว้นการกล่าวถึงชื่อและเรื่องราวของลูกค้าในที่สาธารณะ ทั้งนี้รวมถึงในห้องรับรองแขกของที่ทำงานด้วย"

และยังมีข้อปฏิบัติในรายละเอียดอีกหลายข้อที่ทำให้สบายใจได้ว่า นักวางแผนทางการเงินจะสามารถรักษาความลับทางการเงินของเราได้เป็นอย่างดี

- "เราจะเชื่อนักวางแผนทางการเงินเหล่านี้ได้อย่างไร"

หลายๆ คนคิดว่าเราจะสามารถเชื่อคำแนะนำหรือคำปรึกษาของนักวางแผนทางการเงินเหล่านี้ได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่าสิ่งที่เค้าแนะนำนั้นถูกต้อง หรือแนะนำในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไม่ได้มั่วหรือยัดเยียดมาให้ ข้อสงสัยเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ให้ข้อมูลทางการเงินแก่นักวางแผนทางการเงินไปหมดแล้ว แต่ข้อสงสัยนี้ก็จะค่อยๆ หมดหายไปเมื่อได้เห็น "รายงานทางการเงินส่วนตัว"

รายงานทางการเงินส่วนตัวจะบอกทุกอย่างเกี่ยวกับผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงิน ดังนั้น เมื่อได้เห็นแผนทางการเงินแล้ว ก็จะรู้ได้เลยว่า นักวางแผนทางการเงินได้จัดเตรียมทำการบ้านมาดีแค่ไหน นักวางแผนทางการเงินได้จัดทำรายงานสอดคล้องกับเป้าหมายและมีเหตุมีผลเพียงพอไหม ซึ่งสามารถตัดสินได้จากรายงานทางการเงินส่วนตัว

นักวางแผนทางการเงินจะได้รับการอบรมในการจัดการทำรายงานทางเงินส่วนตัว ผ่านทางการอบรมจากคุณวุฒิ CFP  FcHFP หรือ RFC ตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ในการอบรมจะสอนให้นักวางแผนทางการเงินคิดและคำนวนหาการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในอนาคตตามหลักเกณฑ์สากลที่วางไว้ ในการอบรมยังสอนถึงการวิเคราะห์ การประยุกต์ รวมถึงการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับแต่ละแผนงาน มีการทำ Workshop การแชร์เคสหรือการยกเคสเพื่อประกอบการศึกษา เพื่อให้นักวางแผนทางการเงินได้มีความเข้าใจและรู้แจ้งในการวางแผนการเงินอย่างแท้จริง

นักวางแผนทางการเงินที่ดีต้องหมั่นทบทวนความรู้ และศึกษาถึงกฏระเบียบ ข้อบังคับที่ออกมาใหม่ อยู่เสมอ การติดตามข่าวสาร การอบรมเพิ่มเติม เป็นสิ่งที่นักวางแผนทางการเงินต้องปฏิบัติอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ให้แก่ตนเองและยังสามารถถ่ายทอดไปให้กับผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงินอีกด้วย

- "นักวางแผนทางการเงินเหล่านี้จะจริงใจให้คำปรึกษาที่เป็นกลางกับเราไหม"

 หลายๆ คนมักจะสงสัยว่า นักวางแผนทางการเงินให้คำปรึกษากับเราอย่างเป็นกลางไหม จะรู้ได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่นักวางแผนทางการเงินแนะนำนั้นมันดีต่อเราจริงๆ หรือมันเหมาะสมกับเราจริงๆ

การจริงใจให้คำปรึกษาถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนอยากได้รับ

ข้อสงสัยนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ต้องการวางแผนทางการเงิน ได้รับรายงานจากนักวางแผนทางการเงินแล้ว หรือเกิดขึ้นเมื่อนักวางแผนทางการเงินให้คำปรึกษาเสร็จแล้ว ผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงินก็ต้องชั่งใจว่าจะดำเนินแผนทางการเงินตามที่นักวางแผนทางการเงินเสนอมาไหม ข้อสงสัยนี้ก็หมดไปถ้านักวางแผนทางการเงินให้เหตุผลที่เหมาะสมอย่างเพียงพอต่อแผนทางการเงินที่เสนอ และให้คำปรึกษาที่เป็นชัดเจน มีหลักการตามทฤษฎีที่รองรับ มีเหตุมีผลตามหลักการวางแผนทางการเงินสากล

นักวางแผนทางการเงินที่ดีจะต้องเป็นกลาง ไม่โอนเอียงไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตัวเองชอบ จะต้องพูดถึงเหตุผลที่สมควรที่แนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นๆ มากกว่าจะเน้นที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวใดตัวหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมมา support

ด้วยจรรยาบรรณของนักวางแผนทางการเงิน เชื่อว่าไม่มีนักวางแผนทางการเงินคนไหนจะไม่แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงิน และที่สำคัญที่สุด ผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงิน จะเป็นคนที่ตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อผลิตภัณฑ์การเงินที่นักวางแผนทางการเงินนำเสนอ

- "นักวางแผนทางการเงินเหลานี้คิดค่าวางแผนเท่าใด และนักวางแผนทางการเงินจะได้รับอะไรตอบแทนเมื่อมีการวางแผนทางการเงิน"

หลายๆ คนมักจะลังเลและกังวลก่อนว่า การวางแผนทางการเงินนั้น ค่าธรรมเนียมคิดอย่างไร และค่าบริการคิดเป็นครั้งหรือคิดเป็นปี ข้อสงสัยนี้ทำให้ผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงินไม่กล้าที่จะถาม หรือถามแล้วกลัวว่าจะคิดในอัตราที่สูงจนรับไม่ได้ จนเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การวางแผนทางการเงินไม่สามารถเกิดขึ้นสักที เพราะยังไม่ชัดเจนเรื่องเรื่องค่าบริการ

ในความเป็นจริง มีนักวางแผนทางการเงินที่คิดค่าบริการและไม่คิดค่าบริการ ค่าบริการนี้อาจรวมถึงการปรึกษาในครั้งแรก การปรึกษาในครั้งต่อๆ ไป รายงานทางการเงินส่วนบุคคล การบริการยื่นจดทะเบียน การบริการยื่นเรื่องแก่หน่วยงานราชการ การร่างสัญญา รวมถึงการซื้อผลิตภัณฑ์การเงินให้กับผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงิน

นักวางแผนทางการเงินที่ไม่คิดค่าบริการ
มีนักวางแผนทางการเงินจำนวนมากที่ไม่คิดค่าบริการ เพราะเหตุผลที่ว่า อาชีพวางแผนทางการเงินในประเทศนี้ยังไม่แพร่หลาย ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก ถ้านักวางแผนทางการเงินคิดค่าบริการแล้ว ก็คงไม่มีใครที่จะมาใช้บริการหรือมีก็อาจจะน้อย ซึ่งจะผิดความตั้งใจของนักวางแผนทางการเงินที่อยากจะให้ทุกคนมีการวางแผนทางการเงินที่ดี ดังนั้น นักวางแผนทางการเงินส่วนใหญ่ก็จะไม่คิดค่าบริการ

แล้วนักวางแผนทางการเงินจะได้รายได้มาจากไหน ในเมื่อไม่คิดค่าบริการ นักวางแผนทางการเงินจะได้รายได้จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงิน อาจจะอยู่ในรูปของค่าเปอร์เซนต์ ค่าคอมมิชชั่น หรือส่วนแบ่งแล้วแต่ที่ตกลงไว้กับทางโบกเกอร์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัยต่างๆในแต่ละผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเป็นรายได้ให้แก่นักวางแผนทางการเงิน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงินก็จะได้สบายใจว่าสามารถปรึกษาได้ตลอดเวลา ไม่ต้องกังวลถึงค่าบริการอีก

นักวางแผนทางการเงินที่คิดค่าบริการ
นักวางแผนทางการเงินบางคน ได้มีการคิดค่าบริการแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มนักวางแผนการเงินจากต่างประเทศ เพราะอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น งานที่ปรึกษาการเงินเป็นงานที่มีมานาน ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับมากในต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องสากลที่นักวางแผนการเงิน จะคิดค่าบริการ ค่าที่ปรึกษา ค่าธรรมเนียม อาจจะเป็นแบบเหมาจ่ายตามจำนวนครั้ง หรือคิดตามชั่วโมงที่ปรึกษา หรือคิดเป็นค่าทำรายงานวางแผนการเงินส่วนตัว นักวางแผนทางการเงินกลุ่มนี้ จะให้คำปรึกษาและจัดทำรายงานวางแผนทางการเงินส่วนตัว เมื่อมีการใช้บริการตรงนี้เกิดขึ้น ก็จะเก็บค่าบริการตามที่ตกลงกันไว้

แต่ถึงกระนั้น ค่าบริการที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อรวมๆ แล้วอาจจะไม่มากกับกลุ่มคนที่ไม่มีเวลาที่จะวางแผนเงินตัวเอง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เชื่อว่าค่าบริการที่จ่ายให้แก่นักวางแผนทางการเงินนั้น มันเป็นรายจ่ายจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เค้าจะได้รับกลับมา สิ่งที่ได้รับกลับมา อาจให้ผลตอบแทนที่มากมาย และส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น คนกลุ่มนี้จึงเลือกที่จะจ่ายค่าบริการ

Sunday, December 2, 2012

วางแผนการเงิน... เรื่องง่าย... ถ้าให้ "มืออาชีพดูแล" ตอนที่ 6

ขั้นตอนที่ 6

ทบทวนและปรับปรุงแผน



หลังจากที่ได้ปฏิบัติไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้ได้ระยะหนึ่งแล้ว ต้องมีการทบทวนและปรับปรุงแผนทางการเงินที่วางไว้ให้สอดคล้องกับสถานกราณ์ในปัจจุบัน เพราะเมื่อวงจรชีวิตเปลี่ยนไป เช่น อายุมากขึ้น แต่งงาน มีลูก เกษียณ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม เช่น ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุน ผลกระทบจากการเมือง ภัยธรรมชาติต่อทรัพย์สิน หรืออุบัติเหตุโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น แผนการเงินก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย การทบทวนแผนการเงินอาจทำปีละหนึ่งครั้งหรือปีละสองครั้งขึ้นกับชีวิตของแต่ละคน การหมั่นทบทวนแผนการเงินก็จะทำให้แผนการเงินรัดกุมยิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนอาจทำได้ทันท่วงที ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้


6 ขั้นตอนสำหรับการวางแผนการเงิน ดูเหมือนว่า 6 ขั้นตอนนี้จะง่ายๆ แต่บางทีมันกลับไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายๆ คน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องพึ่ง นักวางแผนการเงินมืออาชีพ ให้เข้ามาจัดการให้ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วจะรู้ว่าการวางแผนการเงินเป็นเรื่องที่ง่าย แค่ใช้มืออาชีพเข้าช่วย


Coming together is a beginning,staying together is progress,and working together is success.
(การมาด้วยกันคือการเริ่มต้น การอยู่ด้วยกันคือการก้าวไปข้างหน้า และการทำงานร่วมกันคือความสำเร็จ)
 - Henry Ford -

วางแผนการเงิน... เรื่องง่าย... ถ้าให้ "มืออาชีพดูแล" ตอนที่ 5

ขั้นตอนที่ 5

ลงมือปฏิบัติ


ผ่านมาแล้ว 4 ขั้นตอน เมื่อมีการเตรียมทุกอย่างแล้ว ก็เหลืออย่างเดียว คือ ลงมือปฏิบัติ หลายคนบอกว่านี่เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะล้มเหลวมากที่สุด คือการนำแผนการเงินที่ทำไว้แล้วนำไปปฏิบัติ โดยต้องทำตามแผนที่ได้วางไว้ว่าต้องปฏิบัติอะไรบ้าง กรอบเวลาใด เมื่อได้มีการเริ่มต้นแล้ว ทุกอย่างก็จะเดินตามแผนที่วางไว้ เป้าหมายการเงินที่วางไว้อย่างดี อย่างสวยงาม แผนการเงินที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบ จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้ ซึ่งไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง



                       Well done is better than well said.
                         (การลงมือทำดีกว่าคำพูดที่สวยหรู)

- Benjamin Franklin -