Thursday, May 29, 2014

การบริหารจัดการหนี้ ตอนที่ 5

สำหรับคนที่เป็นหนี้เสีย แล้วหันไปพึ่งหนี้นอกระบบนั้น น่าจะเป็นการ "หนีเสือปะจระเข้" อย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่เจอจากหนี้นอกระบบนั้นคือดอกเบี้ยแพงๆ และการทวงหนี้แบบโหดๆ นอกจากนี้ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบยังมี "สารพัดเล่ห์เหลี่ยม" ที่เอารัดเอาเปรียบลูกหนี้

เล่ห์เหลี่ยมหรือหลุมพลางที่เจ้าหนี้นอกระบบจูงใจให้เรากู้
  • ใส่ตัวเลขต่างๆ น้อยๆ เพื่อจูงใจให้กู้ เช่น ดอกเบี้ย 2% แต่จริงๆ แล้ว ดอกเบี้ย 2% ต่อเดือนไม่ใช่ต่อปี 
  • คิดดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุสัญญา 
  • บีบให้ทำสัญญาเงินกู้เกินจริง เขียนสัญญากำกวม 
  • หลีกเลี่ยงให้กู้โดยตรง โดยให้คนอื่นปล่อยกู้อีกหลายทอด
  • หลังทำสัญญาแล้ว ทวงหนี้มหาโหด บีบบังคับ ข่มขู่
ตัวอย่างที่ 1 : "เจ้าหนี้ไม่บอกอัตราดอกเบี้ย"

"เงินด่วนทันใจ ดอกเบี้ยถูก บริการเงินสดพร้อมใช้ รับเงินไว"
"สนใจติดต่อ คุณโทนี่ xxx-xxx-xxxx"

น.ส. สมศรี ต้องการกู้เงิน 10,000 บาท จึงโทรติดต่อนายโทนี่และได้รับเงื่อนไขดังนี้
กู้เงิน 10,000 บาท ต้องจ่ายคืนเดือนละ 1,200 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี

น.ส. สมศรีควรกู้กับนายโทนี่ไหม?

คำตอบ: ถ้าสมศรีกู้เงินกับนายโทนี่เป็นจำนวน 10,000 บาท
สมศรีต้องจ่ายเงินทั้งหมด = 1,200 บาท x 12 เดือน = 14,400 บาท
ดังนั้น ดอกเบี้ยที่สมศรีจ่ายให้กับนายโทนี่เท่ากับ = 14,400 - 10,000 = 4,400 บาท
ลองคำนวณว่าดอกเบี้ย 4,400 บาทนี้เป็นอัตรากี่เปอร์เซนต์ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยต่อปี = 4,400 / 10,000 x 100 = 44%
ตามปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (Customer Loan) ของธนาคารส่วนใหญ่จะเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 20% ต่อปี แต่ของนายโทนี่นั้นดอกเบี้ย 44% ต่อปี ดังนั้นสมศรีไม่ควรกู้คะ

ตัวอย่างที่ 2 : "หลีกเลี่ยงการให้กู้โดยตรง"

น.ส. สมศรี ต้องการกู้เงิน 10,000 บาท จึงโทรติดต่อนายแป๊ะและได้รับเงื่อนไขดังนี้
ถ้าจะกู้เงิน 10,000 บาท นายแป๊ะพาน.ส. สมศรีไปสมัครบัตรเงินผ่อน และให้ไปซื้อสินค้าเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยบัตรเงินผ่อน เช่น ซื้อทีวีด้วยบัตรเงินผ่อนมา 12,000 บาท แต่ต้องมาขายให้กับนายแป๊ะในราคาถูกมากๆ เช่น 10,000 บาท นายแป๊ะก็นำเครื่องใช้ไฟฟ้านั่นไปขายต่อด้วยราคา 11,500 บาท

แสดงว่านายแป๊ะได้กำไรเท่ากับ 11,500 - 10,000 = 1,500 บาท
ส่วน น.ส. สมศรีได้รับเงินจากนายแป๊ะมา 10,000 บาท แต่ต้องผ่อนบัตรเงินผ่อน 12,000 บาทนั้นที่อัตราดอกเบี้ย 25% ต่อปี ซึ่งเท่ากับ 12,000 x 25% = 3,000 บาท น.ส. สมศรีจึงต้องผ่อนทั้งหมดเท่ากับ เงินต้น 12,000 + ดอกเบี้ย 3,000 = 15,000 บาท

ดอกเบี้ยบัตรเงินผ่อน 3,000 บาท และส่วนต่างถูกหักให้กับนายแป๊ะเท่ากับ 2,000 บาท ซึ่งรวมเท่ากับ 5,000 บาท ถ้าคำนวณเงิน 5,000 บาทนี้กับเงินที่ได้รับมา 10,000 จะพบว่า
อัตราดอกเบี้ยต่อปี = 5,000 / 10,000 x 100 = 50% ดังนั้นสมศรีไม่ควรกู้คะ

จากทั้ง 2 ตัวอย่างทำให้เห็นว่า การจะกู้ยืมเงินนอกระบบนั้นระมัดระวังให้ดี ต้องมีสติ พิจารณาถึงข้อเสนอที่เค้าให้มาว่ามีการเอารัดเอาเปรียบจนเกินไปไหม และเรารับข้อเสนอนั้นได้ไหม มีความสามารถในการผ่อนหรือเปล่า การกู้เงินนอกระบบไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเรามีวินัยทางการเงินขนาดไหน คนที่มีวินัยทางการเงินดี ย่อมรู้จักใช้จ่าย จัดสรรเงิน ใช้หนี้ตรงเวลา รับผิดชอบต่อตัวเอง ถ้าทำได้เช่นนี้ภาระหนี้ก็จะหมดโดยไว