Monday, April 28, 2014

การบริหารจัดการหนี้ ตอน 4

ก็รู้ทั้งรู้ว่า จะต้องมีการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ก่อนที่จะก่อหนี้ แต่ในบางทีมันก็มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาติดขัด มีอุปสรรค ทำให้การชำระหนี้ไม่ทันเสียแล้ว หนี้เข้าสู่วิกฤตไปเสียแล้ว หนี้ที่มีอยู่เริ่มจะจ่ายช้ากว่ากำหนด จ่ายไม่ไหว และค้างชำระ จนต้องเสียประวัติไป แม้ว่าหนี้สินจะพันกันยุ่งเยิง ขออย่าได้ท้อ อย่าได้หนีหนี้ อย่าได้คิดสั้น ปัญหาต้องมีทางออก รูปแบบการแก้ปัญหาหนี้จะมีอยู่ 3 รูปแบบคือ

1. การรีไฟแนนซ์ (Refinance)

การรีไฟแนนซ์เหมาะกับหนี้ที่เกือบจะเสีย คือยังสามารถจ่ายได้อยู่ จ่ายได้ไหว แต่ไม่คล่องตัว ไม่ทันเวลา เงินที่จะจ่ายแต่ละเดือนมันตึงๆ จ่ายได้ได้กว่ายอดหนี้ที่กำหนดไว้ ก็ต้องใช้วิธีรีไฟแนนซ์

รีไฟแนนซ์ยังเหมาะกับคนที่คิดว่าตัวเองจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง แล้วต้องการที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย ให้ลดลง หรืออยากปรับเปลี่ยนแผนการชำระหนี้ให้ชำระได้หมดภาระเร็วขึ้น หรือเปลี่ยนสถาบันการเงินที่ให้กู้ แม้ว่าจะไม่มีปัญหาด้านการเงินที่นำไปผ่อนชำระ การรีไฟแนนซ์ก็ยังสามารถกระทำได้เพื่อการลดค่าใช้จ่ายด้านอัตราดอกเบี้ยและขยายเวลาการผ่อนชำระ

การจะพิจารณาในการรีไฟแนนซ์ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ต้องมีการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงว่าจะช่วยให้เราประหยัดได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์หรือไม่ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในการรีไฟแนนซ์จะประกอบด้วย
  • ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่าหลักประกัน บริษัทสินเชื่อแห่งใหม่ต้องมีการประเมินหลักประกันใหม่ ในบางครั้งอาจมีค่าใช้จ่าย เช่น การจ้างบริษัทมาคำนวณหลักประกัน
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเงินกู้กับผู้ให้สินเชื่อแห่งใหม่
  • ค่าจดจำนองหลักประกัน
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกัน
  • ค่าปรับให้แก่เจ้าหนี้เก่าในกรณีที่ยุติการกู้ก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา
ด้วยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจึงต้องพิจารณาให้ดีก่อนที่จะรีไฟแนนซ์ ลองเปรียบเทียบหลายๆ สถานบันการเงินที่ให้รีไฟแนนซ์ว่าข้อเสนอที่ใดให้ประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด 
2. ปรับโครงสร้างหนี้หรือการประนอมหนี้

การปรับโครงสร้างหนี้นั้นสามารถกระทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้กลายเป็นหนี้เสียก่อน สามารถเดินเข้าไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือเจรจาประนอมหนี้กับสถาบันการเงินได้ การเดินเข้าไปคุยกับสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแสดงถึงความตั้งใจในการชำระหนี้ คุยกับทางสถาบันการเงินว่าทางสถานบันการเงินจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ดีกว่าที่จะให้เกิดการค้างชำระ เพราะถ้าเกิดการค้างชำระแล้วประวัติเครดิตก็จะเสีย ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติได้ การประนอมหนี้ก็จะยากขึ้นอีก

รูปแบบการเจรจาประนอมหนี้มีหลายรูปแบบ ได้แก่
  • ขอลดยอดหนี้ลงบางส่วน
  • ขอขยายเวลาการชำระหนี้ 
  • ขอลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละงวด
  • ขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติที่ไม่ผิดนัด
  • ขอหยุดดอกเบี้ยและไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ผ่อนชำระ
  • ขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับกรณีผิดชำระ
  • ขอโอนหลักประกันเพื่อชำระหนี้
แต่ก่อนที่จะเดินไปขอปรับโครงสร้างหนี้ ควรจะสังเกตุว่า ลูกหนี้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้ควรที่จะมีคุณสมบัติดังนี้

  1. มีภาระหนี้ไม่มากหรือทำธุรกิจส่วนตัว ที่จำเป็นต้องรักษาประวัติเครดิตที่ดีเอาไว้สำหรับการขอสินเชื่อสำหรับธุรกิจ
  2. เป็นหนี้ที่ไม่ได้ถูกคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โหดเกินไป
  3. เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เงินที่จะจ่ายคืนหนี้ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้
  4. มั่นใจว่าจะสามารถจ่ายได้ตลอด ไม่หยุดจ่ายกลางคัน
ดังนั้นการปรับโครงสร้างหนี้อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือช่วยลดแรงกดดันในการชำระหนี้ ลดการถูกทวงหนี้ ในบางกรณีอาจได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงด้วย แต่ข้อเสีย คือ มูลค่าหนี้หลังการปรับโครงสร้างหนี้อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะสถาบันการเงินอาจจะนำยอดหนี้เดิม ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าทวงถาม มารวมเป็นยอดหนี้ใหม่ การปรับโครงสร้างหนี้อาจจะทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบหากไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาใหม่จนนำไปสู่กระบวนการฟ้องร้อง เพราะในสัญญาใหม่จะปรับดอกเบี้ยลดลง ซึ่งมีความเป็นธรรมต่อลูกหนี้แล้ว

3. แฮร์คัต (Hair Cut)

เมื่อเราไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จริงๆ ทางสถาบันการเงินจะฟ้องร้องเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แม้ว่าจะถูกสถาบันการเงินฟ้องร้อง ก็อย่าเพิ่งท้อถอย อย่าเพิ่งถอยหรือหนี ให้เดินตามกระบวนการต่อไป

ทางสถาบันการเงินอาจเข้ามาเจรจาเพื่อลดหนี้ที่ค้างชำระโดยแลกกับการจ่ายหนี้ส่วนที่เหลือ วิธีนี้จะเรียกว่าแฮร์คัต โดยทางสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้จะเป็นยื่นข้อเสนอเข้ามา วิธีแฮร์คัตนี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่ค้างชำระหนี้มานาน ทางสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อยากจะเจรจาเพื่อปิดยอดหนี้ จึงเสนอข้อเสนอนี้ขึ้นมา ถ้าเห็นว่าสามารถรับข้อเสนอนี้ได้ ก็ดำเนินการเจราปิดหนี้ได้เลย


ในตอนหน้าจะมาทำความรู้จัก หนี้นอกระบบ เพื่อให้เรารู้ทันเงินนอกระบบ ไม่ให้โดนหลอกได้อย่างง่ายนะคะ