Sunday, February 22, 2015

สรุปการเปลี่ยนแปลงภาษีของคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ตอนที่ 2

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล ในตอนนี้จะมาดูว่าแล้วเราจะลงบัญชีรายรับ-จ่ายกันอย่างไร

บัญชีรายรับ-จ่ายเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาในการยื่นภาษีของคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล จะยื่นแนบเพียงครั้งเดียวต่อปีไปกับภงด. 90 (ไม่ต้องยื่นแนบกับ ภงด. 94 ในกลางปี) บัญชีรายรับ-จ่ายจะแสดงถึงกระแสเงิน (Cash Flow) ที่ใช้ในกิจการ เป็นการบันทึกบัญชีแบบง่ายเพื่อใช้ภายในกิจการ ไม่เน้นการเก็บบิลหรือใบเสร็จ เสมือนการลงรายรับรายจ่ายของครัวเรือน


การอธิบายวิธีการลงบัญชีรายรับ-จ่ายนั้น จะขอยกจากตัวอย่างนะคะ ขอย้อนกลับไปในตอนแรกที่ได้ยกตัวอย่างห้างหุ้นส่วนสามัญเอบีการแพทย์นะคะ สมมติว่าห้างหุ้นส่วนมีการเสียภาษีดังนี้

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล เอบีการแพทย์
รายได้             จากกิจการรักษาผู้ป่วยในคลีนิก                         1,000,000 
หักค่าใช้จ่าย     โดยเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา (ร้อยละ 60%)       600,000
คงเหลือ           เงินได้หลังการหักค่าใช้จ่าย                                400,000
หักค่าลดหย่อน  ค่าลดหย่อนของห้างหุ้นส่วนสามัญ                         60,000
คงเหลือ           เงินได้สุทธิ                                                     340,000
ภาษีที่ต้องจ่าย   อัตราภาษีแบบก้าวหน้า (ตกในฐาน 10%)                11,500

มี 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการลงบัญชีรายรับ-จ่าย ที่จะยื่นต่อสรรพากร
กรณีที่ 1 ไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่ต้องการจะแบ่งส่วนกำไรให้หมด ไม่ต้องเหลือไปถึงปีหน้า ควรจะลงบัญชีอย่างไร
กรณีที่ 2 ถ้ามีภาษีหัก ณ ที่จ่าย เกินกว่าภาษีที่ต้องจ่าย (ได้เงินภาษีคืน) ควรจะอย่างบัญชีอย่างไร
กรณีที่ 3 ถ้ามีภาษีหัก ณ ที่จ่าย น้อยกว่าภาษีที่ต้องจ่าย (ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม) ควรจะลงบัญชีอย่างไร

บัญชีรายรับ-จ่ายที่จะยื่นแนบไปกับภงด. 90 นั้น เพื่อป้องกันความสับสน ควรเข้าใจไว้ก่อนว่าบัญชีนี้คือ รายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็น Cash Flow ของคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นๆ และการทำบัญชีรายรับ-จ่ายเพื่อยื่นสรรพากรนี้ก็เป็นบัญชีแค่ช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มค. ถึง 31 ธค. ของปีที่เราจะต้องยื่นภาษี ดังนั้นบางรายจ่ายที่อาจไม่ได้จ่ายในช่วงระยะเวลาของปีนี้ ก็ต้องไปลงบัญชีของปีหน้า ลองดูกรณีที่ 1 นะคะ

กรณีที่ 1 ถ้าตามตัวอย่างของห้างหุ้นส่วนเอบีการแพทย์ ถ้าหุ้นส่วนต้องการแบ่งส่วนแบ่งกำไรทั้งหมด ไม่ต้องการที่จะมีเงินเหลือเลย จะต้องลงบัญชีตามนี้

กรณีที่ 1 สรุปบัญชีรายรับ-จ่ายตามจริงของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล เอบีการแพทย์ ปี 2557
ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีก่อน                                                                                  0  (1)
ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี       กิจการรักษาผู้ป่วยในคลีนิค                                1,000,000 (2)
ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี     รวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริง                                       470,000  (3)
เงินคงเหลือเป็นกำไรในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเท่ากับ            (1)+(2)-(3) = 530,000
มีการแบ่งกำไรออกมาให้หุ้นส่วนเป็นจำนวน                                                           518,500
ยอดเงินคงเหลือยกไปในปีถัดไป                                                                           11,500

จะเห็นได้ว่า ห้างหุ้นส่วนสามารถแบ่งกำไรออกมาได้แค่ 518,000 เท่านั้น เพราะเงินจำนวน 11,500 ต้องเอาไปจ่ายภาษีในอีกปีหน้า (ถ้ายอดเงินเหลือ เหลือเท่ากับ 0 แล้วในเดือนมีค. ปีถัดไป จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าภาษีละ ดังนั้นจึงต้องลงเป็น 11,500 เพื่อให้มีเงินเหลือไปภาษีในเดือนมีค. ในปีถัดไป) ทำให้เห็นว่าบัญชีนั้นลงเป็นรอบปี รายจ่ายไหนที่ยังไม่ได้จ่ายจริงก็ต้องตั้งค้างเอาไว้ แล้วคราวนี้ถ้าสมมติในปีต่อไป ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้ไม่ได้มีรายรับรายจ่ายเกิดขึ้นเลย จะลงบัญชีตามนี้

กรณีที่ 1 สรุปบัญชีรายรับ-จ่ายตามจริงของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล เอบีการแพทย์ ปี 2558
ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีก่อน                                                                    11,500  (1)
ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี       กิจการรักษาผู้ป่วยในคลีนิค                                0 (2)
ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี     รวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริง                                       11,500  (3)
เงินคงเหลือเป็นกำไรในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเท่ากับ            (1)+(2)-(3) = 0
มีการแบ่งกำไรออกมาให้หุ้นส่วนเป็นจำนวน                                                           0
ยอดเงินคงเหลือยกไปในปีถัดไป                                                                          0

จะเห็นได้ว่า ยอดเงินคงเหลือ 11,500 ถูกยกมาจากปีก่อน แล้วหักด้วยรายจ่ายในที่นี้คือภาษีเป็นจำนวน 11,500 บาท ทำให้ทุกอย่างเหลือเท่ากับ 0 เมื่อยอดเหลือเท่ากับ 0 แล้ว ถ้าทางห้างหุ้นส่วนสามัญจะยื่นปิดห้างหุ้นส่วนหลังจากยื่นภาษีนี้เสร็จก็สามารถทำได้เลย เพราะไม่มียอดอะไรค้างแล้ว 

กรณีที่ 2 ถ้ามีภาษีหัก ณ ที่จ่าย เท่ากับ 40,000 บาท ซึ่งเกินกว่าภาษี 11,500 ที่ต้องจ่าย (ได้เงินภาษีคืน) แล้วทางห้างหุ้นส่วนอยากแบ่งกำไรให้หมดจะต้องลงบัญชีตามนี้

กรณีที่ 2 สรุปบัญชีรายรับ-จ่ายตามจริงของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล เอบีการแพทย์ ปี 2557
ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีก่อน                                                                                  0  (1)
ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี       กิจการรักษาผู้ป่วยในคลีนิค                                1,000,000 (2)
ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี     รวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริง                                       470,000  (3)
เงินคงเหลือเป็นกำไรในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเท่ากับ            (1)+(2)-(3) = 530,000
มีการแบ่งกำไรออกมาให้หุ้นส่วนเป็นจำนวน                                                           490,000
ยอดเงินคงเหลือยกไปในปีถัดไป                                                                           40,000

จะเห็นได้ว่า ยอดเงินคงเหลือในปีถัดไปจะเท่ากับ 40,000 เพราะยอดนี้คือภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เราต้องได้รับคืนมาจากสรรพากร แต่เรายังไม่ได้รับในปี 2557 นี้ต้องรอในปีหน้า (ถ้าเราตั้งยอดเงินคงเหลือเท่ากับ 0 ก็จะเกิดการสับสน เพราะเดือนมีค. เราจะได้เงินคืนเท่ากับ 40,000 - 11,500 = 28,500 บาท แล้ว 28,500 นี้ต้องเหลืออยู่ในบัญชีเราต่อไป) ยอด 40,000 จึงเป็นยอดรายได้ค้างรับและยอดรายจ่ายค้างจ่ายที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 แล้วคราวนี้ถ้าสมมติในปีต่อไป ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้ไม่ได้มีรายรับรายจ่ายเกิดขึ้นเลย จะลงบัญชีตามนี้

กรณีที่ 2 สรุปบัญชีรายรับ-จ่ายตามจริงของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล เอบีการแพทย์ ปี 2558
ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีก่อน                                                                    40,000  (1)
ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี       กิจการรักษาผู้ป่วยในคลีนิค                                0 (2)
ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี     รวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริง                                       11,500  (3)
เงินคงเหลือเป็นกำไรในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเท่ากับ            (1)+(2)-(3) = 28,500
มีการแบ่งกำไรออกมาให้หุ้นส่วนเป็นจำนวน                                                           28,500
ยอดเงินคงเหลือยกไปในปีถัดไป                                                                          0

จะเห็นได้ว่า ยอดเงินคงเหลือ 40,000 ถูกยกมาจากปีก่อน แล้วหักด้วยรายจ่ายในที่นี้คือภาษีเป็นจำนวน 11,500 บาท ทำให้ทุกอย่างเหลือเท่ากับ 28,500 ยอด 28,500 เป็นส่วนแบ่งกำไรนี้จะถูกแบ่งให้กับนายแพทย์เอ และนายบี คนละเท่าๆ กัน คือ 14,250 และหุ้นส่วนทั้งสองคนก็ต้องนำไปรวมเป็นรายได้ส่วนตัวของปี 2558 ถ้าทางห้างหุ้นส่วนสามัญจะยื่นปิดห้างหุ้นส่วนหลังจากยื่นภาษีนี้เสร็จก็สามารถทำได้เลย เพราะไม่มียอดอะไรค้างแล้ว
 
กรณีที่ 3 ถ้า มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย เท่ากับ 5,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าภาษี 11,500 ที่ต้องจ่าย (ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม) แล้วทางห้างหุ้นส่วนอยากแบ่งกำไรให้หมดจะต้องลงบัญชีตามนี้

กรณีที่ 3 สรุปบัญชีรายรับ-จ่ายตามจริงของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล เอบีการแพทย์ ปี 2557
ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีก่อน                                                                                  0  (1)
ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี       กิจการรักษาผู้ป่วยในคลีนิค                                1,000,000 (2)
ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี     รวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริง                                       470,000  (3)
เงินคงเหลือเป็นกำไรในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเท่ากับ            (1)+(2)-(3) = 530,000
มีการแบ่งกำไรออกมาให้หุ้นส่วนเป็นจำนวน                                                           523,500
ยอดเงินคงเหลือยกไปในปีถัดไป                                                                           6,500

จะเห็นได้ว่า ยอดเงินคงเหลือในปีถัดไปเท่ากับ 6,500 ซึ่งเท่ากับ ยอดภาษีที่ต้องจ่ายในเดือนมีค. ปี 2558 (ต้องจ่ายภาษี 11,500 แต่มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้วเท่ากับ 5,000 ดังนั้นต้องจ่ายภาษีเหลือเท่ากับ 6,500 ในปีถัดไป) ยอด 6,500 จึงเป็นรายจ่ายค้างจ่ายในปีถัดไป แล้วคราวนี้ถ้าสมมติในปีต่อไป ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้ไม่ได้มีรายรับรายจ่ายเกิดขึ้นเลย จะลงบัญชีตามนี้ 

กรณีที่ 3 สรุปบัญชีรายรับ-จ่ายตามจริงของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล เอบีการแพทย์ ปี 2558
ยอดเงินคงเหลือยกมาจากปีก่อน                                                                    6,500  (1)
ยอดรวมรายรับระหว่างปีภาษี       กิจการรักษาผู้ป่วยในคลีนิค                                0 (2)
ยอดรวมรายจ่ายระหว่างปีภาษี     รวมค่าใช้จ่ายที่แท้จริง                                       6,500  (3)
เงินคงเหลือเป็นกำไรในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลเท่ากับ            (1)+(2)-(3) = 0
มีการแบ่งกำไรออกมาให้หุ้นส่วนเป็นจำนวน                                                           0
ยอดเงินคงเหลือยกไปในปีถัดไป                                                                          0

จะเห็นได้ว่ายอดเงินคงเหลือ 6,500 ที่ยกมาจากปีก่อน จะถูกหักรายจ่าย 6,500 ที่เป็นภาษีที่ต้องชำระ ทำให้ยอดเงินคงเหลือเท่ากับ 0 ถ้าทางห้างหุ้นส่วนสามัญจะยื่นปิดห้างหุ้นส่วนหลังจากยื่นภาษีนี้เสร็จก็สามารถทำได้เลย เพราะไม่มียอดอะไรค้างแล้ว 

ในตอนหน้าจะมาดูแนวทางของคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลว่า ในปี 2558 นี้ว่าควรจะทำอย่างไร รวมถึงคำถามที่เกี่ยวข้องกับคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ที่พบเจอบ่อย พบกันตอนหน้านะคะ