Monday, September 30, 2013

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ตอนที่ 5

มาถึงตอนสุดท้ายแล้วสำหรับภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ในตอนสุดท้ายนี้จะกล่าวถึงการคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 94 ว่าคำนวณอย่างไร

หลายๆ คนยังสงสัยอยู่ว่าอัตราภาษีแบบใหม่ (0-35%) ได้นำมาใช้กับการคำนวณภาษีเงินครึ่งปีแล้วรึยัง คำตอบก็คือยังค่ะ ณ ปัจจุบันตอนนี้ยังคงใช้อัตราภาษีแบบเก่า (0-37%) อยู่เหมือนเดิม ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลและ หสม. ก็ยังเหมือนเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ดังนั้นการคำนวณภาษีครึ่งปีนี้ก็ยังคงใช้รูปแบบเหมือนเดิมกับ ภ.ง.ด. 90 นะคะ

วิธีคำนวณภาษีแบบที่ 1 แบบก้าวหน้าหรือขั้นบันได

เมื่อเงินได้พึงประเมินของเราได้หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนและเงินบริจาคไปแล้ว เงินได้ตรงนี้ก็จะถูกเรียกว่าเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิเป็นเงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษี

การคำนวณภาษีแบบที่ 1 นี้ จะแบ่งเงินได้เป็นขั้นๆ ซึ่งแต่ละขั้นนั้นจะนำมาคิดคำนาณภาษีไม่เท่ากัน โดยขั้นภาษีจะถูกแบ่ง 5 ขั้น คือ ยกเว้น, 10, 20, 30 และ 37



ตัวอย่างการคำนวนภาษี โดยสมมุติให้มีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วเท่ากับ 1,200,000 บาท



จะเห็นได้ว่าเมื่อเงินได้สุทธิเยอะ ก็ต้องเสียภาษีที่ค่อนข้างเยอะตามไปด้วย ภาษีจึงเพิ่มเป็นขั้นบันไดตามเงินได้

วิธีคำนวณแบบที่ 2 แบบ 0.005

วิธีนี้จะไม่นำเงินได้สุทธิมาคำนวณ จะดูที่เงินได้พึงประเมินเป็นหลัก (เงินได้พึงประเมินคือเงินที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน และหักเงินบริจาค) หากมีเงินได้พึงประเมินมากกว่า 60,000 บาทขึ้นไป ให้นำเงินได้พึงประเมินนี้คูณด้วย 0.005 ถ้าผลลัพธ์ออกมาแล้วไม่เกิน 5,000 บาท ก็ให้ใช้แบบที่ 1 แต่ถ้าผลลัพธ์ที่ได้เกิน 5,000 บาทและยังมีค่ามากกว่าแบบที่ 1 ก็ให้ใช้ผลลัพธ์อันนี้



จะเห็นได้ว่าการคำนวณภาษีนั้น คนที่มีเงินได้มากๆ ถ้ามีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วนำมาคำนวณภาษีแบบที่ 1 อาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่เมื่อนำมาคำนวณแบบที่ 2 อาจจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่าคนๆ นี้ก็จะต้องเสียภาษีตามแบบที่ 2 แม้ว่าคำนวณแบบที่ 1 แล้วไม่เสียภาษีเลยก็ตาม

ภาษีเงินได้ครึ่งปีภ.ง.ด. 94 เป็นความรับผิดชอบของผู้ที่มีเงินได้ 40(5) - 40(8) ที่จะต้องยื่นเพื่อชำระภาษีในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ชำระภาษีภายในช่วงเวลาที่กำหนดนี้ จะต้องเสียเงินเพื่ออีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระและต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ดังนั้นทางที่ดีก็อย่าลืมไปยื่นกันนะคะ มีเวลาถึงวันที่ 8 ตุลาคมนี้

Saturday, September 28, 2013

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ตอนที่ 4

เงื่อนไขของการหักลดหย่อนเงินบริจาคหลังหักค่าลดหย่อนอื่นๆ

ผู้ที่มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ตามที่บริจาคจริงในเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2556 โดย การหักลดหย่อนเงินบริจาคนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าหย่อนอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว

ในกรณีที่มีคู่สมรส แล้วคู่สมรสไม่มีเงินได้ แต่คู่สมรสมีการบริจาคเงิน จะนำเงินที่คู่สมรสบริจาคนี้ไปหักลดหย่อนไม่ได้

ในกรณีที่บริจาคเงินร่วมกันกับคู่สมรส และในใบเสร็จรับเงินไม่ได้ระบุจำนวนเงินว่าใครบริจาคไปเท่าไร ให้ถือว่าบริจาคกันคนละครึ่ง

ในกรณีที่บริจาคกันหลายคน และในใบเสร็จรับเงินมีการระบุชื่อหลายคนแต่ไม่ได้ระบุแยกจำนวนเงินไว้ ให้ถือว่าบริจาคคนละเท่าๆ กัน

ในกรณีที่บริจาคเป็นสิ่งของ และในใบเสร็จรับเงินระบุว่าเป็นการบริจาคเป็นสิ่งของ จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น 

การบริจาคเงินเพื่อนำมาลดหย่อนนั้น ต้องบริจาคเป็นไปตามที่สรรพากรกำหนด โดยสามารถแบ่งการบริจาคเป็นสองแบบคือ

1. เงินบริจาคเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาและเพื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย

เงินบริจาคเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาและเพื่อการกีฬาแห่งประเทศไทยนี้จะสามารถนำไปหักลดหย่อนได้  2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ก่อนหักเงินบริจาค

หากต้องการตรวจสอบว่าสถานศึกษาใดอยู่ในรายชื่อที่สามารถหักลดหย่อนได้ สามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์สรรพกร (www.rd.go.th > บริการข้อมูล > รายชื่อสถานศึกษาที่สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคให้ 1 ได้ 2) หรือสอบถามได้ที่สรรพากรทุกแห่งคะ 

หากต้องการตรวจสอบว่าหน่วยด้านกีฬาใดอยู่ในรายชื่อที่สามารถหักลดหย่อนได้ สามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์สรรพกร (www.rd.go.th > บริการข้อมูล > รายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนเงินบริจาคให้ 1 ได้ 2) หรือสอบถามได้ที่สรรพากรทุกแห่งคะ 

2. เงินบริจาคอื่นๆ 

เงินบริจาคอื่นๆ ได้แก่ วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์กรของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล กองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการและกองทุน เป็นต้น จะสามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันกันไม่เกินร้อยละ 10 หลังจากที่หักค่าลดหย่อนของเงินบริจาคเพื่อการศึกษาและการกีฬาในข้อที่ 1 ไปแล้ว

หากต้องการตรวจสอบว่าสถานพยาบาล สถานศึกษาและสถานสาธารณกุศลใดอยู่ในรายชื่อที่สามารถหักลดหย่อนได้ สามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์สรรพกร (www.rd.go.th > บริการข้อมูล > รายชื่อมูลนิธิ สาธารณกุศล ที่สามารถหักเงินลดหย่อนบริจาคได้) หรือสอบถามได้ที่สรรพากรทุกแห่งคะ


หากต้องการตรวจสอบว่าสถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้นบำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา คนพิการ ที่สามารถหักลดหย่อนได้ สามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์สรรพกร (www.rd.go.th > บริการข้อมูล > รายชื่อสถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้นบำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา คนพิการ ที่สามารถหักลดหย่อนได้) หรือสอบถามได้ที่สรรพากรทุกแห่งคะ

ในตอนหน้าจะเป็นการคำนวนภาษีคะ ว่าภ.ง.ด. 94 นี้จะคำนวนภาษีอย่างไร

Friday, September 13, 2013

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ตอนที่ 3

ในตอนที่ 3 นี้จะกล่าวถึงค่าลดหย่อนของ ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปีว่ามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง

1. ค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 15,000 บาท แต่ถ้าค่าลดหย่อนของคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล จะหักได้ 2 กรณีคือ
  • กรณีเป็นหุ้นส่วนในคณะบุคคลอยู่ในไทยเพียงคนเดียว ให้หักลดหย่อนผู้มีเงินได้เพียงคนเดียว เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท
  • กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลอยู่ในไทยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้หักลดหย่อนผู้มีเงินได้ ทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท     
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส จะแบ่งเป็น 4 กรณี
  • ถ้าคู่สมรสไม่มีเงินได้สามารถลดหย่อนได้ 15,000 บาท
  • แต่ถ้าคู่สมรสมีเงินได้ จะลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้
        - คู่สมรสมีเงินได้มาตรา 40(1) - 40(4)
          ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนได้ 15,000 บาท (ซึ่งเพิ่งจะเพิ่มขึ้นมานะคะ บางคนอาจจะไม่ทราบในข้อนี้ เพราะเมื่อคิดดูแล้วจะสับสนว่าถ้าคู่สมรสมีเงินได้แล้วจะนำคู่สมรสมาลดหย่อนได้อย่างไร แต่สรรพากรให้ลดหย่อนได้จริงๆ คะ)
        - คู่สมรสมีเงินได้มาตรา 40(5) - 40(8)
          ถ้าผู้มีเงินได้และคู่สมรสยื่นร่วมกัน ผู้มีเงินได้หักได้ 15,000 บาท และคุ่สมรสหักได้ 15,000 บาท
          แต่ถ้าแยกยื่น ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้
  • กรณีผู้มีเงินได้อยู่ในไทย (ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนคู่สมรสได้ โดยไม่ว่าคู่สมรสจะอยู่ในไทยหรือไม่
  • กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้อยู่ในไทย (ไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะคุ่สมรสที่เป็นผู้อยู่ในไทยเท่านั้น
3. ค่าลดหย่อนบุตรและการศึกษาของบุตร ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนขึ้นกับ 4 กรณีคือ
  • บุตรที่ไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาในต่างประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 7,500 บาท
  • บุตรที่ศึกษาอยู่ในประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 8,500 บาท
  • กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนบุตรทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ต่างประเทศ
  • กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนเฉพาะบุตรที่อยู่ในไทยเท่านั้น โดยให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่  
4. ค่าลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้และบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สามารถลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้มีอุปการะคนทุพพลภาพหรือคนพิการ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท

6. ค่าลดหย่อนที่เป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงตามกฏหมายว่าด้วยการประกันสังคม

7. ค่าลดหย่อนที่เป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

8. ค่าลดหย่อนที่เป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท

9. ค่าลดหย่อนที่เป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท

10. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ จะสามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 95,000 บาท

11. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสผู้มีเงินได้ จะผู้มีเงินได้จะยื่นแยกหรือยื่นรวมก็เหมือนกัน แต่จะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ
  • กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ ผู้มีเงินได้จะสามารถลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสผู้ไม่มีเงินได้นี้ 5,000 บาท
  • กรณีคู่สมรสมีเงินได้ ผู้มีเงินได้จะไม่สามารถลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสนี้
12. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาทและเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและไม่เกิน 500,000 บาท

13. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

14. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในเดือนมกราคมถึงมิถุนายนแต่ไม่เกิน 95,000 บาท

จะเห็นได้ว่าค่าลดหย่อนของภ.ง.ด. 94 นี้ บางส่วนคล้ายกับภ.ง.ด. 90 จะแตกต่างที่จำนวนเงินที่จะนำมาลดหย่อนที่มีจำนวนน้อยกว่า

ในตอนหน้าจะมาดูเงินบริจาคที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ และการคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีคะ


Tuesday, September 10, 2013

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ตอนที่ 2

ในการคำนวนภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด. 94 นั้นการหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ที่ได้รับมานั้นเหมือนกับการคำนวนภาษีเต็มปี ภ.ง.ด. 90 นั้นคือ ภ.ง.ด. 90 หักใช้จ่ายอย่างไร ภ.ง.ด. 94 ก็จะหักแบบเดียวกันคะ

แบบแรก: การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา

การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมานี้คือ การเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นตัวเลขร้อยละของประเภทเงินได้ที่ตามสรรพากรกำหนด ซึ่งแต่ละเงินได้ที่ได้รับมาก็จะมีการหักแบบเหมาไม่เท่ากัน
40(5) ที่เป็นค่าเช่าต่างๆ จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ไม่เท่ากัน เช่น ค่าเช่าที่ดินที่ใช้การเกษตร หักได้ 20% ค่าเช่าที่ดินที่ไม่ใช้การเกษตร หักได้ 15% ค่าเช่าบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างและแพ หักได้ 30% ค่าเช่ารถ ยานพาหนะ หักได้ 30% ทรัพย์สินอื่นๆ หักได้ 10%
40(6) ที่เป็นประกอบวิชาชีพอิสระต่างๆ จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาไม่เท่ากัน เช่น วิชาชีพกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ประณีตศิลปกรรม หักได้ 30% ประกอบโรคศิลป(แพทย์) หักได้ 60% ซึ่งทั้งหมดนี้หักค่าใช้จ่ายได้แบบไม่มีเพดาน
40(7) ที่เป็นรับเหมา จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในอัตราเดียวคือ 70%
40(8) ที่เป็นเงินได้อื่นๆ จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ไม่เท่ากัน จะหักค่าใช้จ่ายได้ตามตารางนี้



จะเห็นได้ว่าการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมานั้นจะเป็นร้อยละที่แน่นอน ผู้มีเงินได้สามารถนำไปคิดคำนวนได้ทันที

แบบสอง: การหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร (หักค่าใช้จ่ายตามจริง)

การหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นการหักค่าใช้จ่ายตามปกติ ที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทหรือต่อเงินได้แต่ละชนิด
2. เป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะกับกิจการนั้นๆ
3. ต้องไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามไม่ให้หักเป็นรายจ่าย
4. ผู้มีเงินได้นี้ต้องมีหลักฐานประกอบการหักรายจ่าย ที่จะให้พนักงานสามารถตรวจสอบได้ เช่น ใบเสร็จ บิลรับเงิน ทวิ 50 เป็นต้น

การเลือกขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรนี้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกได้ว่า ปีใดจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือปีใดจะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือสมควรได้

นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ผู้มีเงินได้ยังอาจหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้ประเภทหนึ่ง แต่หักค่าใช้จ่ายแบบตามความจำเป็นและสมควรสำหรับเงินได้อีกประเภทหนึ่งได้อีกด้วย แต่เงินได้ประเภทและชนิดเดียวกัน หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดแล้ว จะต้องใช้วิธีเดียวกันไปตลอดปีภาษีสำหรับเงินได้นั้นทั้งประเภท
            
ตัวอย่าง คุณหมอมีเงินได้จากการเปิดคลีนิครักษาฟันในตอนเย็น มีเงินได้ครึ่งปี 1,000,000 บาท เงินได้ที่ได้รับนี้จะเป็น 40(6) คุณหมอสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือแบบตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ สมมุติว่าคุณเลือกแบบตามความจำเป็นและมีหลักฐานการจ่ายเงิน แล้วการเปิดคลีนิคนี้มีค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
- ค่าจ้างพนักงาน 2 คน เดือนละ 40,000 = 40,000 x 6 เดือน = 240,000
- ค่าเช่าที่ เดือนละ 30,000 = 30,000 x 6 เดือน = 180,000
- ค่าอุปกรณ์ ยา เครื่องมือแพทย์ เดือนละ 50,000 x 6 = 300,000
- ค่าน้ำค่าไฟ โทรศัพท์ เดือนละ 5,000 x 6 = 30,000
ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 240,000 + 180,000 + 300,000 + 30,000 = 750,000
ดังนั้น คุณหมอสามารถนำ 750,000 นี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายของเงินได้ 1,000,000 บาทนี้ ทำให้เหลือ 250,000 นำไปหักค่าลดหย่อนแล้วคำนวนภาษี
แต่ถ้าคุณหมอเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่อยากยุ่งยากในการเก็บหลักฐานค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายของ 40(6) ที่เป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลป์จะเท่ากับ 60% ของเงินได้นั้น ดังนั้นจะเท่ากับ 1,000,000 x 60% = 600,000 ทำให้ค่าใช้จ่ายแบบเหมานี้เท่ากับ 600,000 ซึ่งน้อยกว่าการหักค่าใช้จ่ายแบบตามความจำเป็นและสมควร

ดังนั้นผู้มีเงินได้จะต้องพิจารณาเลือกให้ดีว่าจะหักค่าใช้จ่ายแบบใด เพื่อการประหยัดภาษีมากที่สุด กฎหมายก็ให้ผู้มีเงินได้เลือกใช้วิธีใดก็ได้ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าใช้อย่างไรแล้วต้องใช้อย่างนั้นตลอดไปในทุกๆ ปี


ในตอนหน้าจะมาพูดถึงค่าลดหย่อนของภ.ง.ด. 94 กันนะคะ ว่ามีอะไรบ้าง

Saturday, September 7, 2013

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ตอนที่ 1

ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนจะเป็นช่วงการยื่นภาษีครึ่งปีหรือที่เรียกว่า ภ.ง.ด. 94 สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5) ถึง 40(8) ต้องนำเงินได้นี้ไปยื่นเสียภาษีครึ่งปี วันสุดท้ายสำหรับการยื่นแบบกระดาษหรือยื่นด้วยตนเองที่สรรพากรพื้นที่นั้นเป็นวันที่ 30 กันยายนนี้ แต่ถ้ายื่นแบบออนไลน์ผ่านเวบไซต์ www.rd.go.th ก็จะขยายกำหนดเวลาไปอีก 8 วัน วันสุดท้ายจะเป็นวันอังคารที่ 8 ตุลาคม ดังนั้นต้องจดวันให้ดีๆ นะคะ อย่าพลาด แต่ทางที่ดีเมื่อมีเวลาว่างก็รีบยื่นได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นวันสุดท้าย ถ้ายื่นก่อนแล้วมีอะไรที่ผิดพลาดก็ยังสามารถแก้ไขได้ก่อนเดตไลน์ แต่ถ้ายื่นเอาวันสุดท้ายแล้วต้องแก้ไข อาจจะยุ่งยากและบางครั้งอาจจะมีค่าปรับและเงินเพิ่มนะคะ

ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 6 หน่วยภาษีคือ บุคคลธรรมดา ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่มิยังได้แบ่ง ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชน โดยหน่วยภาษีเหล่านี้ถ้ามีเงินได้ครึ่งปีเป็น 40(5) ถึง 40(8) ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษี ไม่ว่าจะมีภาษีชำระหรือไม่ก็ตาม

ลองมาทวนกันหน่อยนะคะว่า เงินได้มาตรา 40(5) ถึง 40(8) มีอะไรกันบ้าง

40(5) จะเป็นเงินได้ที่เป็นค่าเช่าต่างๆ ค่าเช่าทรัพย์สินทั้งอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่าที่ดิน เช่าบ้าน เช่ารถยนต์ เช่าเครื่องจักร เป็นต้น

40(6) จะเป็นเงินได้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพได้แก่ วิชาชีพกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ประณีตศิลปกรรม และประกอบโรคศิลป(แพทย์)

40(7) จะเป็นเงินได้จากการรับเหมาเป็นจัดหาสัมภาระ เช่น รับเหมาก่อสร้างอาคาร รับเหมาจัดงานเลี้ยง เป็นต้น

40(8) จะเป็นเงินได้อื่นที่เกี่ยวกับการค้าขายสินค้า การแสดงของนักแสดง การเปิดคลีนิค การทำกิจการ การทำเกษตรกรรม การทำเหมืองแร่ การขนส่ง การพาณิชยกรรมที่ไม่เข้าตาม 40(1) ถึง 40(7)

เบื้องต้นคงทราบแล้วว่าใครจะต้องยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด 94 บ้าง ตอนหน้าจะมาว่ากันเกี่ยวกับการคิดคำนวนภาษีว่าคิดคำนวนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเป็นเช่นไร


Thursday, September 5, 2013

การเสียภาษีของดารา,นักแสดง,นักร้อง,พิธีกรและนักกีฬาอาชีพอย่างถูกต้อง 4


ในบางครั้งนักแสดงไม่ได้แสดงเพียงคนเดียว บางคนแสดงเป็นหมู่คณะ เป็นกลุ่มคน หรือนักกีฬาเล่นเป็นทีม พอได้รับเงินค่าแสดงมา หรือได้รับเงินรางวัลมา จะบริหารภาษีอย่างไร

ถ้ามีการแสดงเป็นหมู่คณะ หรือเป็นทีม การยื่นแบบควรยื่นแบบในนามของคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ เพราะถือว่านักแสดงหรือนักกีฬาทุกคนร่วมรับรายได้นี้ร่วมกัน ทำให้แต่ละคนไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับมาไปแยกยื่นส่วนตัว การยื่นเป็นคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญนี้จะทำให้ทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง

แต่ถ้าการจัดตั้งคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นยุ่งยาก หรือตั้งมาแล้วอาจใช้แค่ไม่กี่ครั้ง แล้วต้องรับงานแสดงเป็นหมู่คณะ แบบนี้ก็ให้บริษัทว่าจ้าง จ้างงานเป็นรายบุคคลเลย โดยจ้างมาแสดงร่วมกัน หรือจ้างมาเล่นเป็นทีมกัน โดยบริษัทว่าจ้างจะจ่ายเงินค่าแสดงเป็นรายบุคคลออกเป็น 50 ทวิ ตามจำนวนคนที่มาร่วมการแสดงเป็นทีม เท่านี้ก็จะเป็นการแยกรับภาระทางภาษีกันอย่างเท่าเทียมกันคะ

ถ้าท่านใดมีคำถามหรือกรณีให้ปรึกษาก็สอบถามมาได้คะ ยินดีให้คำปรึกษา เพราะเรื่องภาษีต้องมีการวางแผนแต่เนิ่นๆ และทำให้ถูกต้อง ถึงจะบริหารภาษีได้อย่างถูกต้อง