Tuesday, September 10, 2013

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ตอนที่ 2

ในการคำนวนภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด. 94 นั้นการหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ที่ได้รับมานั้นเหมือนกับการคำนวนภาษีเต็มปี ภ.ง.ด. 90 นั้นคือ ภ.ง.ด. 90 หักใช้จ่ายอย่างไร ภ.ง.ด. 94 ก็จะหักแบบเดียวกันคะ

แบบแรก: การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา

การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมานี้คือ การเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นตัวเลขร้อยละของประเภทเงินได้ที่ตามสรรพากรกำหนด ซึ่งแต่ละเงินได้ที่ได้รับมาก็จะมีการหักแบบเหมาไม่เท่ากัน
40(5) ที่เป็นค่าเช่าต่างๆ จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ไม่เท่ากัน เช่น ค่าเช่าที่ดินที่ใช้การเกษตร หักได้ 20% ค่าเช่าที่ดินที่ไม่ใช้การเกษตร หักได้ 15% ค่าเช่าบ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างและแพ หักได้ 30% ค่าเช่ารถ ยานพาหนะ หักได้ 30% ทรัพย์สินอื่นๆ หักได้ 10%
40(6) ที่เป็นประกอบวิชาชีพอิสระต่างๆ จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาไม่เท่ากัน เช่น วิชาชีพกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ประณีตศิลปกรรม หักได้ 30% ประกอบโรคศิลป(แพทย์) หักได้ 60% ซึ่งทั้งหมดนี้หักค่าใช้จ่ายได้แบบไม่มีเพดาน
40(7) ที่เป็นรับเหมา จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ในอัตราเดียวคือ 70%
40(8) ที่เป็นเงินได้อื่นๆ จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ไม่เท่ากัน จะหักค่าใช้จ่ายได้ตามตารางนี้



จะเห็นได้ว่าการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมานั้นจะเป็นร้อยละที่แน่นอน ผู้มีเงินได้สามารถนำไปคิดคำนวนได้ทันที

แบบสอง: การหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร (หักค่าใช้จ่ายตามจริง)

การหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นการหักค่าใช้จ่ายตามปกติ ที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทหรือต่อเงินได้แต่ละชนิด
2. เป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะกับกิจการนั้นๆ
3. ต้องไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามไม่ให้หักเป็นรายจ่าย
4. ผู้มีเงินได้นี้ต้องมีหลักฐานประกอบการหักรายจ่าย ที่จะให้พนักงานสามารถตรวจสอบได้ เช่น ใบเสร็จ บิลรับเงิน ทวิ 50 เป็นต้น

การเลือกขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรนี้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกได้ว่า ปีใดจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา หรือปีใดจะหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นหรือสมควรได้

นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ผู้มีเงินได้ยังอาจหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้ประเภทหนึ่ง แต่หักค่าใช้จ่ายแบบตามความจำเป็นและสมควรสำหรับเงินได้อีกประเภทหนึ่งได้อีกด้วย แต่เงินได้ประเภทและชนิดเดียวกัน หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดแล้ว จะต้องใช้วิธีเดียวกันไปตลอดปีภาษีสำหรับเงินได้นั้นทั้งประเภท
            
ตัวอย่าง คุณหมอมีเงินได้จากการเปิดคลีนิครักษาฟันในตอนเย็น มีเงินได้ครึ่งปี 1,000,000 บาท เงินได้ที่ได้รับนี้จะเป็น 40(6) คุณหมอสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือแบบตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ สมมุติว่าคุณเลือกแบบตามความจำเป็นและมีหลักฐานการจ่ายเงิน แล้วการเปิดคลีนิคนี้มีค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
- ค่าจ้างพนักงาน 2 คน เดือนละ 40,000 = 40,000 x 6 เดือน = 240,000
- ค่าเช่าที่ เดือนละ 30,000 = 30,000 x 6 เดือน = 180,000
- ค่าอุปกรณ์ ยา เครื่องมือแพทย์ เดือนละ 50,000 x 6 = 300,000
- ค่าน้ำค่าไฟ โทรศัพท์ เดือนละ 5,000 x 6 = 30,000
ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 240,000 + 180,000 + 300,000 + 30,000 = 750,000
ดังนั้น คุณหมอสามารถนำ 750,000 นี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายของเงินได้ 1,000,000 บาทนี้ ทำให้เหลือ 250,000 นำไปหักค่าลดหย่อนแล้วคำนวนภาษี
แต่ถ้าคุณหมอเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่อยากยุ่งยากในการเก็บหลักฐานค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายของ 40(6) ที่เป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลป์จะเท่ากับ 60% ของเงินได้นั้น ดังนั้นจะเท่ากับ 1,000,000 x 60% = 600,000 ทำให้ค่าใช้จ่ายแบบเหมานี้เท่ากับ 600,000 ซึ่งน้อยกว่าการหักค่าใช้จ่ายแบบตามความจำเป็นและสมควร

ดังนั้นผู้มีเงินได้จะต้องพิจารณาเลือกให้ดีว่าจะหักค่าใช้จ่ายแบบใด เพื่อการประหยัดภาษีมากที่สุด กฎหมายก็ให้ผู้มีเงินได้เลือกใช้วิธีใดก็ได้ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าใช้อย่างไรแล้วต้องใช้อย่างนั้นตลอดไปในทุกๆ ปี


ในตอนหน้าจะมาพูดถึงค่าลดหย่อนของภ.ง.ด. 94 กันนะคะ ว่ามีอะไรบ้าง

No comments:

Post a Comment