Friday, September 13, 2013

ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปี ตอนที่ 3

ในตอนที่ 3 นี้จะกล่าวถึงค่าลดหย่อนของ ภ.ง.ด. 94 ภาษีเงินได้ครึ่งปีว่ามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง

1. ค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 15,000 บาท แต่ถ้าค่าลดหย่อนของคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล จะหักได้ 2 กรณีคือ
  • กรณีเป็นหุ้นส่วนในคณะบุคคลอยู่ในไทยเพียงคนเดียว ให้หักลดหย่อนผู้มีเงินได้เพียงคนเดียว เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท
  • กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลอยู่ในไทยตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้หักลดหย่อนผู้มีเงินได้ ทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท     
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส จะแบ่งเป็น 4 กรณี
  • ถ้าคู่สมรสไม่มีเงินได้สามารถลดหย่อนได้ 15,000 บาท
  • แต่ถ้าคู่สมรสมีเงินได้ จะลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้
        - คู่สมรสมีเงินได้มาตรา 40(1) - 40(4)
          ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนได้ 15,000 บาท (ซึ่งเพิ่งจะเพิ่มขึ้นมานะคะ บางคนอาจจะไม่ทราบในข้อนี้ เพราะเมื่อคิดดูแล้วจะสับสนว่าถ้าคู่สมรสมีเงินได้แล้วจะนำคู่สมรสมาลดหย่อนได้อย่างไร แต่สรรพากรให้ลดหย่อนได้จริงๆ คะ)
        - คู่สมรสมีเงินได้มาตรา 40(5) - 40(8)
          ถ้าผู้มีเงินได้และคู่สมรสยื่นร่วมกัน ผู้มีเงินได้หักได้ 15,000 บาท และคุ่สมรสหักได้ 15,000 บาท
          แต่ถ้าแยกยื่น ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้
  • กรณีผู้มีเงินได้อยู่ในไทย (ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนคู่สมรสได้ โดยไม่ว่าคู่สมรสจะอยู่ในไทยหรือไม่
  • กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้อยู่ในไทย (ไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะคุ่สมรสที่เป็นผู้อยู่ในไทยเท่านั้น
3. ค่าลดหย่อนบุตรและการศึกษาของบุตร ผู้มีเงินได้จะหักลดหย่อนขึ้นกับ 4 กรณีคือ
  • บุตรที่ไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาในต่างประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 7,500 บาท
  • บุตรที่ศึกษาอยู่ในประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 8,500 บาท
  • กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนบุตรทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ต่างประเทศ
  • กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในไทย (ไม่ถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนเฉพาะบุตรที่อยู่ในไทยเท่านั้น โดยให้หักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่  
4. ค่าลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้และบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สามารถลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูผู้มีอุปการะคนทุพพลภาพหรือคนพิการ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท

6. ค่าลดหย่อนที่เป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงตามกฏหมายว่าด้วยการประกันสังคม

7. ค่าลดหย่อนที่เป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

8. ค่าลดหย่อนที่เป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท

9. ค่าลดหย่อนที่เป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท

10. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ จะสามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 95,000 บาท

11. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสผู้มีเงินได้ จะผู้มีเงินได้จะยื่นแยกหรือยื่นรวมก็เหมือนกัน แต่จะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ
  • กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ ผู้มีเงินได้จะสามารถลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสผู้ไม่มีเงินได้นี้ 5,000 บาท
  • กรณีคู่สมรสมีเงินได้ ผู้มีเงินได้จะไม่สามารถลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสนี้
12. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาทและเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและไม่เกิน 500,000 บาท

13. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท

14. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในเดือนมกราคมถึงมิถุนายนแต่ไม่เกิน 95,000 บาท

จะเห็นได้ว่าค่าลดหย่อนของภ.ง.ด. 94 นี้ บางส่วนคล้ายกับภ.ง.ด. 90 จะแตกต่างที่จำนวนเงินที่จะนำมาลดหย่อนที่มีจำนวนน้อยกว่า

ในตอนหน้าจะมาดูเงินบริจาคที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ และการคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีคะ


No comments:

Post a Comment