Thursday, August 29, 2013

การเสียภาษีของดารา,นักแสดง,นักร้อง,พิธีกรและนักกีฬาอาชีพอย่างถูกต้อง 3

ในตอนที่ 3 นี้จะกล่าวถึงการหักค่าใช้จ่ายของนักแสดงสาธารณะนะคะ

ถ้าเงินได้ที่ได้รับมามีการลงเป็น "ค่าแสดงสาธารณะ" ใน 50 ทวิ (ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย) เงินได้ตรงนี้ถือเป็นเงินได้ 40(8) โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบคือ แบบเหมากับแบบจ่ายจริง

  • แบบเหมา
        1. เงินได้ส่วนไม่เกิน 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 60%
        2. เงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 40%
        แต่ค่าใช้จ่ายทั้ง 1. และ 2. นี้ หักรวมกันได้ไม่เกิน 600,000 บาท

       ตัวอย่าง: ดาราท่านนึงมีรายได้จ่ายการแสดง 2,000,000 บาท ดังนั้นการคำนวนการหักค่าใช้จ่ายของดาราท่านนี้จะถูกแบ่งเป็น
          300,000 x 60% = 180,000
          1,700,000 x 40% = 680,000
          แต่เมื่อรวมกันแล้วเท่ากับ 860,000 (180,000 + 680,000) ซึ่งเกินเพดาน 600,000 ทำให้หักค่าใช้จ่ายได้แค่ 600,000 บาท

  • แบบจ่ายจริง
        ก็หักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ต้องมีใบเสร็จเก็บไว้เผื่อการถูกเรียกถามจากสรรพากร ถ้าสามารถหาค่าใช้จ่ายตามจริงได้มากกว่าแบบเหมา ก็สามารถเลือกแบบจ่ายจริงในการหักค่าใช้จ่ายได้ แต่ดาราส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้การหักแบบจ่ายจริงเพราะค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องเก็บใบเสร็จและต้องทำบัญชีเก็บไว้ ดาราหลายท่านไม่ค่อยมีเวลาจึงเลือกแบบเหมากันเสียส่วนใหญ่


ถ้าเงินได้ที่ได้รับมามีการลงเป็น "ค่าจ้าง" "ค่าพิธีกร" "ค่าบริการ"ใน 50 ทวิ (ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย) เงินได้ตรงนี้จะถูกปรับให้เป็น 40(2) ทันที เพราะว่าเงินได้ตรงนี้ไม่ได้ลงเป็นค่าแสดงสาธารณะ ทำให้การหักค่าใช้จ่าย ก็เป็นตาม 40(2) นั่นคือ หักได้ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

ซึ่งในที่นี้มีดารา นักแสดงบางท่าน ทำงานเป็นนักแสดงจริงๆ แสดงหนังหรือเล่นละครต่างๆ ที่เข้าลักษณะของเงินได้ที่เป็นค่าแสดงสาธารณะ แต่บริษัทที่ว่าจ้างลงว่าเงินได้นี้เป็น "ค่าจ้าง" ใน 50 ทวิ ก็จะทำให้เงินได้ตัวนี้เป็น 40(2) ทันที ซึ่งจะทำให้ดาราท่านนี้เสียประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายด้านภาษีอย่างมาก




หลังจากได้ทราบถึงการเปรียบเทียบของการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้ที่ได้รับ มาของดารา นักแสดงแล้ว คำถามที่ดารา นักแสดงสงสัยก็คือ "แล้วจะทำอย่างไร ถ้าบริษัทว่าจ้างลงเงินได้ใน 50 ทวิ เป็นค่าจ้าง ค่าพิธีกร หรือค่าบริการ" คำถามนี้ ได้นำไปปรึกษาสรรพากรแล้วว่า ถ้าการทำงานของดารา นักแสดงเป็นการแสดงจริงๆ (ไม่ใช่ทำงานเป็นพิธีกร แล้วอยากปรับเปลี่ยนให้ลงเป็นค่าแสดงสาธารณะ) ก็สามารถให้บริษัทว่าจ้างปรับเปลี่ยนการลงเงินได้ให้ถูกต้อง คุยกับบริษัทว่าจ้างให้มีการแก้ไขประเภทของเงินได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นบริษัทว่าจ้างไม่มีอะไรเสียหายอยู่แล้ว มีแต่ตัวดารา นักแสดงเองที่เสียหาย ดังนั้นดารา นักแสดงเองจึงต้องบอกให้บริษัทว่าจ้าง ลงเงินได้ให้ถูกต้องตามการจ้างงาน