Tuesday, February 25, 2014

การบริหารจัดการหนี้ ตอน 2

จากตอนที่แล้วได้พูดถึงสาเหตุของการเป็นหนี้แล้ว ในตอนนี้จะมาดูกันต่อว่าสถานะของการเป็นหนี้นั้นมีอะไรบ้าง

สถานะของการเป็นหนี้นั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 4 สถานะได้แก่

1. สถานะ "ยังไม่มีหนี้"

"ช่วงเวลาที่ยังไม่มีหนี้ หรือช่วงเวลาปลอดหนี้" น่าจะเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขและสบายใจที่สุด ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการจัดระเบียบชีวิตและวางแผนการเงิน ศึกษาข้อมูลสินเชื่อต่างๆ ก่อนที่จะกู้ เพื่อทำการเปรียบเทียบสินเชื่อแต่ที่ต่างๆ ว่ามีการคิดและคำนวณอย่างไร

2. สถานะ "คิดจะกู้"

สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อคิดจะเป็นหนี้ คือวิเคราะห์ความจำเป็นของการเป็นหนี้ เพราะสาเหตุของการเป็นหนี้นั้นมีหลายรูปแบบ เราต้องรู้ก่อนว่าหนี้ที่จะเกิดขี้นนี้มาจากสาเหตุใด เมื่อวิเคราะห์ความจำเป็นในการก่อหนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การคำนวณภาระหนี้ที่จะเกิดขี้นว่า พอจะมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ เปรียบเทียบข้อมูลให้รอบคอบไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่เกี่้ยวข้อง ค่าปรับกรณีล่าช้า ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้ เปรียบเทียบกับความสามารถของเราว่าเราสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในระดับไหน และถ้าในกรณีที่เราไม่สามารถผ่อนชำระได้ เราจะทำอย่างไร หาทางหนีทีไล่ก่อนที่จะกู้จริงๆ เผื่อว่าเมื่อกู้แล้วถ้าเกิดปัญหา เราจะได้ดำเนินตามแผนที่วางไว้



3. สถานะ "ก่อหนี้และจัดการได้"

เมื่อขั้นนี้แล้ว ก็เดินไปสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อกู้ได้เลย เพราะเราได้มีการวางแผนการเงินไว้แล้ว สถาบันการเงินเค้าจะอนุมัติสินเชื่อหรือไม่นั้น เค้าจะดูจาก ประวัติการขอสินเชื่อและพฤติกรรมการชำระเงินที่ผ่านมา และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ดังนั้นจึงควรเตรียมเอกสารในส่วนนี้ให้พร้อม

ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินนั้น ผู้กู้จะต้องตรวจเช็คสัญญาเงินกู้ให้ดี เพราะบางคนเซนต์ชื่อโดยที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขอะไรเลย ซึ่งคนส่วนนี้ก็จะพบกับปัญหาที่อาจจะตามมาในภายหลัง ซึ่งเมื่อเราลงชื่อไปแล้ว คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบตามสัญญานั้นได้ลำบาก

สิ่งที่ต้องตรวจสอบสัญญาเงินกู้
- จำนวนเงินที่ขอกู้ถูกต้องตามที่ตกลงกันไหม ตัวเลขกับตัวหนังสือต้องตรงกัน
- ระยะเวลาและความถี่ในการผ่อนชำระ
- อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ และวิธีคิดดอกเบี้ย เป็นแบบคงที่หรือลอยตัว
- หลักประกัน เช่น ค่าประเมิน ค่าจดจำนองหลักประกัน เงื่อนไขการไถ่ถอน
- เงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดเบี้ยปรับ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถาม การชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด เป็นต้น
- ตารางแสดงจำนวนเงินผ่อนต่องวด ซึ่งควรจะมีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยต่องวด
- เงื่อนไขอื่นๆ เช่น การทำประกันสินเชื่อที่ทางสถาบันมักจะบังคับให้ทำ ซึ่งเราต้องพิจารณาให้ดีว่าสมควรทำหรือไม่ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วทางสถาบันการเงินไม่สามารถบังคับเราให้ทำประกันสินเชื่อ

4. สถานะ "หนี้สินพอกพูน"

ถ้าเราทำได้ดีในสถานะที่ 2 และที่ 3 แล้ว การมีหนี้นี้ก็จะดำเนินอย่างปกติ มีเงินจ่ายคืนตามปกติ แต่บางคนอาจไม่เป็นเช่นนั้น ในปีแรกๆ อาจจะดำเนินอย่างปกติ แต่เมื่อปีหลังต่อมา อาจจะมีปัจจัยอื่นมากระทบ เช่น รายได้ลดลง เศรษฐกิจแย่ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันแก่คนใกล้ตัว เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือเป็นโรคร้ายแรง หรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้เตรียมมาก่อนแล้วต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในทันที เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงว่ากำลังเข้าสู่ "วิกฤตทางการเงิน" เข้าแล้ว

สัญญาณบ่งชี้ว่าเริ่มมีปัญหาทางการเงินจะมีอาการต่อไปนี้
- ไม่มีเงินเก็บ
- อยู่อย่างรอคอย (เงินเดือน โบนัส เงินปันผล)
- เงินออกปุ๊ป หายไปกับหนี้ปั๊ป
- จ่ายค่าน้ำไฟ โทรศัพท์ ค่าเช่า ไม่ตรงเวลา
- จ่ายบัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำ จ่ายบัตรไม่เต็มยอด
- เริ่มซื้อของใช้จำเป็นเข้าบ้านด้วยเงินเชื่อ เงินผ่อน

เมื่อปัญหาเริ่มรุนแรงมากขึ้น อาการก็จะขยับความรุนแรงมาเป็นแบบนี้
- ยืมโน้น โปะนี่ ยืมไปทั่ว ยืมจากคนใกล้ตัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง โดยที่ไม่รู้ว่ายอดหนี้ที่แท้จริงเป็นเท่าไร
- ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของไม่ได้เพราะเต็มวงเงิน
- ขอสินเชื่อใหม่ หรือขอวงเงินเพิ่มไม่ได้
- หมดหนทาง หันไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบ
- ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้บ่อยๆ
- เครียดคิดแต่เรื่องหนี้สินตลอดเวลา

เมื่อเห็นสัญญาณเช่นนี้แล้ว ก็ต้องรีบจัดการกับหนี้เกินตัวให้เร็วที่สุด  วิธีการจัดการนั้น จะมาลงในรายละเอียดในตอนหน้านะคะ