Monday, February 21, 2022

ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายอสังหา: กรณีทั่วไปที่ไม่ได้รับมาจากมรดก

เมื่อเราได้ตกลงที่จะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะโอนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขั้นตอนนี้เราต้องไปที่ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขตที่ดิน หรือ สำนักงานที่ดินจังหวัด ซึ่งนอกจากเราจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนแล้ว เราก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการโอนเช่นกัน ค่าใช้จ่ายในการโอนขึ้นกับการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นเราก็ควรรู้ว่าค่าใช้จ่ายในการโอนว่าประกอบ ด้วยอะไรบ้าง จะได้คำนวณเตรียมเงินเอาไว้ก่อน

1.    ค่าธรรมเนียมการโอน จะอยู่ที่ 2% ของราคาประเมิน แต่ในปี 2565 นี้ถ้าราคาของอสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ค่าธรรม-เนียมในการโอนนี้จะปรับลดลงเหลือ 0.01% ค่าธรรมเนียมในการโอนนี้ก็แล้วแต่ตกลงกับผู้ซื้อและผู้ขายว่าใครจะรับผิดชอบไป

2.    ค่าจดจำนอง จะอยู่ที่ 1% ของมูลค่าจดจำนอง แต่ในปี 2565 นี้ถ้าราคาของอสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ค่าจดจำนองในการโอนนี้จะปรับลดลงเหลือ 0.01% ค่าจดจำนองในการโอนนี้ก็แล้วแต่ตกลงกับผู้ซื้อและผู้ขายว่าใครจะรับผิดชอบไป

3.    ค่าอากรแสตมป์ หากผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดาแล้วมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หรือถือครองเกิน 5 ปี จะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ คิดที่ 0.5% ของราคาซื้อขาย หรือ ราคาประเมิน แล้วแต่ราคาไหนจะสูงกว่ากัน ถ้าเสียอากรแสตมป์แล้วก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีก ค่าอากรแสตมป์นี้ผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบ

4.    ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีธุรกิจเฉพาะนี้ใช้ในกรณีที่ไม่เข้าข่ายเสียอากรแสตมป์ก็จะมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแทน คิดที่ 3.3% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมินแล้วแต่ราคาไหนจะสูงกว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะนี้ผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบ

5.    ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดาจะเอาราคาประเมินมาหักค่าใช้จ่ายที่ถือครอง แล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง แล้วคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วคูณกับจำนวนปีที่ถือครองก็จะได้ยอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบ