Monday, November 26, 2012

วางแผนการเงิน... เรื่องง่าย... ถ้าให้ "มืออาชีพดูแล" ตอนที่ 4

ขั้นตอนที่ 4

การจัดทำแผนทางการเงิน

ผ่านไป 3 ขั้นตอนแล้ว ทวนกันอีกทีนึง ขั้นตอนแรก "กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์" ขั้นตอนที่สอง "รวบรวมข้อมูลทางการเงิน" ขั้นตอนที่สาม "วิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงิน" เมื่อดำเนินมาถึงสามขั้นตอนนี้แล้ว เราก็จะทราบว่า เป้าหมายที่ต้องการกับสินทรัพย์ที่มีอยู่มันสอดคล้องตรงกันแค่ไหน และเมื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเงินแล้ว ก็จะทำให้รู้ว่าเงินจะเข้ามาเมื่อไรและจะออกเมื่อไร ก็จะสามารถวางแผนและจัดทำแผนการเงินได้ ดังนั้นขั้นตอนที่ 4 คือ "การจัดทำแผนทางการเงิน" การวางแผนการเงินในด้านต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่

1. การวางแผนรายรับรายจ่าย
ในด้านนี้จะเป็นการวางแผนค่าใช้จ่าย การออมเงิน บริหารรายได้และรายจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้ การรีไฟแนนส์ การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อให้ลดต้นทุนทางด้านดอกเบี้ยและบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น หย่นระยะเวลาการจ่ายหนี้ลง การวางแผนรายรับรายจ่ายจะทำให้ทราบถึงสภาพคล่องของเงินที่มีอยู่ว่าควรจะเก็บออมเท่าไรและในรูปแบบใด การวางแผนรายรับรายจ่ายจึงเป็นแผนที่ทุกคนควรมีการวางไว้ ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต้องมีการวางแผนรายรับรายจ่าย จะได้ทราบถึงการเงินของตัวเอง

2. การบริหารความเสี่ยงและการวางแผนประกันภัย
การบริหารความเสี่ยงโดยการโอนย้ายความเสี่ยงไปยังบุคคลที่สาม เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราแทนที่เราจะรับความเสี่ยงไว้ที่เราเอง การวางแผนบริหารความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยหลักการในการทำประกัน คือ ประกันบุคคลที่เป็นแรงสำคัญในการทำงานหาเงินเข้าครอบครัว และสินทรัพย์ที่อยู่อาศัย ร้านค้า ที่มีผลต่อการทำงาน ถ้าเกิดกรณีที่ไม่คาดคิด กิจการหรือครอบครัวก้จะยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เปรียบเสมือนว่าไม่มีผลกระทบต่อกิจการนั้นๆ

3. การวางแผนภาษี
การวางแผนทางภาษี ไม่ใช่วางแผนเพื่อจะหลบเลี่ยงภาษี เพียงแต่วางแผนเพื่อที่จะลดภาระทางภาษีตามสิทธิประโยชน์ที่กำหนดตามกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐมีให้อย่างเต็มที่ ครบถ้วนและถูกต้องต้องตามกฏหมาย ทำให้สามารถประหยัดภาษีและนำเงินที่ประหยัดจากภาษีนี้ไปลงทุนเพิ่มเติมได้ การวางแผนภาษีที่ดีจะเปรียบเสมือนว่ามีเงินออมเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนภาษีให้เป็นเงินออม เงินไม่หายไปไหนและบางทีก็ยังได้ผลตอบแทนจากการวางแผนภาษีอีกด้วย

4. การวางแผนการลงทุน
เพือให้เงินทำงานและได้รับผลตอบแทนจากการทำงานของเงิน จะต้องมีการวางแผนการลงทุน เพื่อให้เราสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น ลงทุนในหุ้น ลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น และต้องจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมตามความเสี่ยงที่รับได้ ควรมีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อกระจายความเสี่ยง และควรลงทุนให้สอดคล้องเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ การลงทุนจะต้องมองไปถึงเงินที่จะได้รับในอนาคตว่า เงินจะออกมาตรงกับช่วงเวลาที่เราต้องการใช้เงินไหม และยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้รับผลตอบตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งจะทำให้เป้าหมายทางการเงินไม่บรรลุและการแก้ไขก็จะยากขึ้น เสี่ยงต่อการขาดเงินในอนาคตได้ ดังนั้นการวางแผนการลงทุนจึงเป็นที่สิ่งคัญ ควรทำหลังจากที่เราพร้อมในด้านอื่นๆ แล้ว จึงค่อยมาวางแผนลงทุน

5. การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตหลังจากเกษียณอายุซึ่งไม่มีรายได้ประจำ โดยมีสินทรัพย์ที่สร้างรายได้จำนวนมากพอสำหรับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ โดยที่ไม่เป็นภาระของลูกหลานและสังคม ทั้งนี้หลักการเบื้องต้นของการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ คือ การเริ่มต้นออมตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะดีกว่าการเริ่มต้นเมื่อมีอายุมาก เนื่องจากการออมที่เริ่มต้นเร็วจะสามารถให้ผลตอบแทนมากกว่า หลายๆ คนอาจพึ่งแต่เงินบำนาญที่ได้จากเงินสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินทดแทนสำหรับพนักงานอย่างเดียว ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากมีจำนวนที่จะได้รับไม่มากนักและบางครั้งก็ไม่แน่นอนว่าจะได้รับครบตามที่หวัง ที่สำคัญก็คือในอนาคตนั้น ค่าของเงินจะลดค่าลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ต้องมีการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอายุ

6. การวางแผนมรดก
เป็นการวางแผนกระจายความมั่งคั่งให้กับทายาทรุ่นต่อไป หรือวางแผนมอบมรดกให้เป็นสาธรณกุศล แล้วแต่จุดประสงค์ของเจ้าของทรัพย์สิน คนส่วนมากมักคิดว่าการวางแผนมรดกเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะไม่มีทรัพย์สินจำนวนมาก และคิดว่าเป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนมรดก การทำพินัยกรรมเปรียบเสมือนคำสั่งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งจะได้รับการส่งต่อให้กับคนที่ต้องการมอบให้ ซึ่งอาจจะนอกเหนือจากลำดับทายาทที่กฏหมายกำหนดไว้


Money isn't the most important thing in life, but it's reasonably close to oxygen on the "gotta have it" scale.
(เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต แต่ก็เหมือนออกซิเจนที่จำเป็นต้องมีมัน)
 - Zig Ziglar -