Monday, February 11, 2013

ข้อคิดวางแผนภาษีกับโครงสร้างภาษีแบบใหม่ ตอนที่ 3

การยื่นภาษีเงินได้สำหรับปีภาษี 2555 กรณีที่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน ค่าลดหย่อนที่เราคุ้นเคย ที่ลดหย่อนได้เหมือนในปีก่อนๆ นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยรายการค่าลดหย่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นได้แก่ ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร และดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย เท่านั้น ส่วนค่าลดหย่อนรายการอื่นยังเหมือนเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับให้ลดหย่อนได้เพิ่มขึ้น

สำหรับค่าลดหย่อน 3 รายการที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1. ค่าลดหย่อนบุตร ไม่ว่าสามีและภรรยาจะเลือกยื่นภาษีแบบก็ตามใน 5 แบบนั้น ทั้งสามีและภรรยาสามารถหักค่าลดหย่อนบุตรได้ฝ่ายละ 15,000 บาท ถ้ารวมทั้งคู่ก็จะเท่ากับ 30,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร ก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกับค่าลดหย่อนบุตร นั่นคือ ไม่ว่าสามีและภรรยาจะเลือกยื่นภาษีแบบใดก็ตามใน 5 แบบนั้น ทั้งสามีและภรรยาสามารถหักค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรได้ฝ่ายละ 2,000 บาท ถ้ารวมทั้งคู่ก็จะเท่ากับ 4,000 บาท

3. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย การหักลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมนี้จะค่อนข้างมีรายละเอียดมากขึ้น กล่าวคือ ต้องดูว่าใครเป็นผู้กู้ ชื่อผู้กู้คือใคร ชื่อใครกู้คนนั้นก็จะเป็นผู้สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้นี้ไปหักลดหย่อน แต่ในบางครั้งมีการกู้ยืมกันหลายคน ก็จะสามารถอธิบายได้ตามตามนี้

3.1 ผู้มีเงินได้กู้ยืมคนเดียว หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

3.2 ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม หักค่าลดหย่อนโดย เฉลี่ยดอกเบี้ยกู้ยืมตามจำนวนผู้กู้ แต่เมื่อรวมกันหมดทุกคนแล้ว จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3.3 ผู้มีเงินได้มีหลายที่อยู่อาศัย และกู้ยืมเงินสำหรับหลายที่อยู่อาศัย หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้จากทุกแห่งที่อยุ่อาศัย  แต่เมื่อรวมกันแล้วทุกที่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3.4 สามีและภรรยา ร่วมกันกู้ยืม บ้านหลังเดียวกัน และมีเงินได้ทั้งสองฝ่าย หักค่าลดหย่อนโดย แบ่งครึ่งของดอกเบี้ยที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกันทั้งคู่แล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3.5 สามีและภรรยา ร่วมกันกู้ยืม แต่สามีหรือภรรยามีเงินได้เพียงฝ่ายเดียว หักค่าลดหย่อนได้เท่ากับที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

3.6 สามีและภรรยา สามีหรือภรรยามีเงินได้เพียงฝ่ายเดียว ผู้กู้เป็นฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ ลักษณะนี้จะไม่สามารถหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้

3.7 สามีและภรรยา ต่างฝ่ายต่างไปกู้ยืมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย ต่างฝ่ายก็ต่างหักค่าลดหย่อนได้เท่ากับที่จ่ายจริง โดยแต่ละคนหักได้ไม่เกิน 100,000 บาท

จะเห็นได้ว่าการหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย จะให้ประโยชน์แก่สามีและภรรยาที่จดทะเบียนกันสูงสุด คือกรณีที่ต่างฝ่ายต่างไปกู้ยืมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งคู่จะสามารถหักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเงินเพื่อที่อยู่อาศัยได้รวมกัน 200,000 บาทเลยทีเดียว  

ตอนหน้า จะมาดูกันว่าการยื่นแบบใดจะช่วยประหยัดภาษีมากที่สุด แล้วการยื่นแยกนั้น จะมีการคิดคำนวนเหมือนอย่างปีก่อนๆ หรือไม่ พบกันใหม่ตอนหน้าคะ


Wednesday, February 6, 2013

ข้อคิดวางแผนภาษีกับโครงสร้างภาษีแบบใหม่ ตอนที่ 2

เมื่อปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า การที่คู่สมรสต้องรวมเงินได้เข้าด้วยกัน แล้วนำไปยื่นภาษีด้วยกันนั้นขัดต่อความเสมอภาค ทางสรรพกรก็เลยมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการยื่นภาษีใหม่ ให้ถูกต้องตามหลักความเสมอภาค สรรพกรจึงประกาศออกมาใหม่โดยมีทางเลือกให้แก่สามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันมีโอกาสเลือกได้ว่าจะยื่นภาษีแบบใด

แบบที่ 1 คือ ยื่นรวมโดยสามีเป็นผู้ยื่น โดยเงินได้ของภรรยาทั้งหมดทุกวงเล็บ นำเข้ามารวมกับเงินได้ของสามี หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของทั้งคู่รวมกัน แล้วนำมาคำนวนภาษี โดยแบบนี้ สามีเป็นผู้รับผิดชอบในการยื่นภาษีทั้งหมด

แบบที่ 2 คือ ยื่นรวมโดยภรรยาเป็นผู้ยื่น โดยเงินได้ของสามีทั้งหมดทุกวงเล็บ นำเข้ามารวมกับเงินได้ของภรรยา หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของทั้งคู่รวมกัน แล้วนำมาคำนวนภาษี โดยแบบนี้ ภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบในการยื่นภาษีทั้งหมด

แบบที่ 3 คือ ยื่นแยกแต่ เงินได้ของภรรยาเฉพาะวงเล็บ (2) ถึง (8) มารวมกับเงินได้ของสามี โดยภรรยายื่นเฉพาะวงเล็บ (1) เท่านั้น ส่วนสามียื่นเงินได้ของตัวเองและรวมกับเงินได้ของภรรยาที่เป็นวงเล็บ (2) ถึง (8) โดยสามีและภรรยาต่างแยกหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของตัวเอง แล้วนำมาคำนวนภาษี โดยแบบนี้ สามีและภรรยาต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นภาษี

แบบที่ 4 คือ ยื่นแยกแต่ เงินได้ของสามีเฉพาะวงเล็บ (2) ถึง (8) มารวมกับเงินได้ของภรรยา โดยสามียื่นเฉพาะวงเล็บ (1) เท่านั้น ส่วนภรรยายื่นเงินได้ของตัวเองและรวมกับเงินได้ของสามีที่เป็นวงเล็บ (2) ถึง (8) โดยสามีและภรรยาต่างแยกหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของตัวเอง แล้วนำมาคำนวนภาษี โดยแบบนี้ สามีและภรรยาต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นภาษี

แบบที่ 5 คือ ต่างคนต่างแยก เงินได้ของสามีทุกวงเล็บ สามีก็เป็นคนยื่นเอง และเงินได้ของภรรยาทุกวงเล็บ ภรรยาก็เป็นคนยื่นเอง โดยสามีและภรรยาต่างแยกหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของตัวเอง แล้วนำมาคำนวนภาษี โดยแบบนี้ สามีและภรรยาต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นภาษี

จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 แบบนั้น สามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อเลือกยื่นไปแล้ว จะเปลี่ยนภายในปีนั้นไม่ได้ จนถึงยื่นแบบปีหน้าค่อยมาเลือกแบบใหม่ ยกเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพกรเท่านั้น

พอถึงตรงนี้ จะเลือกแบบใด จึงต้องมีการวางแผนนะคะว่า ยื่นแบบไหนจะเกิดประโยชน์สูงสุดนะคะ ทั้งนี้ แนะนำให้ลองคำนวนดูก่อน และรีบยื่นตั้งแต่เนิ่นๆ เผื่อต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีส่วนที่ต้องแก้ไขจะได้ทำได้อย่างรวดเร็วและทันเวลาคะ

ตอนหน้าจะมาดูกันว่า ค่าลดหย่อนของการยื่นแยกและยื่นรวมของสามีและภรรยานั้นมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้าง พบกันตอนหน้าคะ